การวิเคราะห์เปรียบเทียบรายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค และปัญหาความยากจนของมุสลิมไทย

ผศ.ดร.นฐิตา หวังโซ๊ะ 
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

ความยากจนของมุสลิมไทย เป็นปัญหาสะสมเรื้อรังตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (2561) จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย รองลงมา คือจังหวัดนราธิวาส แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ และนครพนม โดยสองจากห้าจังหวัด ได้แก่ ปัตตานี และนราธิวาส มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งจังหวัด การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างรายได้ รายจ่าย ภาวะหนี้สิน และการศึกษาด้านสุขภาวะต่าง ๆ ตลอดจนการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ที่เป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักการศาสนา จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรมุสลิม และอาจจะช่วยทำให้มองเห็นต้นตอของปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นแก่มุสลิมไทยได้ 

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey) พ.ศ. 2560 และพ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Statistic Office: NSO) วิเคราะห์ด้านรายได้ รายจ่าย ภาวะหนี้สิน และด้านสุขภาวะต่าง ๆ รวมถึงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การบริโภคยาสูบของครัวเรือนมุสลิมไทย และความยากจนของมุสลิมไทย โดยจำแนกเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง

ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2560 กับ ปี 2562 แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ในส่วนของประเด็นแรกเป็นผลจากการวิเคราะห์รายได้ รายจ่าย ภาวะหนี้สิน ด้านสุขภาวะต่าง ๆ รวมถึงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการบริโภคยาสูบของครัวเรือนมุสลิมไทย พบว่า ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่ครัวเรือนมุสลิมมีรายได้ รายจ่าย และ มูลค่าทรัพย์สินน้อยที่สุดทั้งในปี 2560 และปี 2562 แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ครัวเรือนมุสลิมไทยมีหนี้สินมากที่สุด ในปี 2560 และปี 2562 ตามลำดับ 

แม้ว่ามุสลิมไทยส่วนใหญ่จะมีไฟฟ้าใช้ มีการบริโภคน้ำดื่มที่ได้มาตรฐาน มีส้วมใช้ภายในบ้าน แต่ยังมีมุสลิมไทยบางส่วนที่ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ได้มาตรฐาน รวมถึงไม่มีส้วมใช้ภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง 

นอกจากนี้ยังมีมุสลิมไทยที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบริโภคยาสูบ กระจายตัวในทุกพื้นที่ แม้ว่าจะเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนาก็ตาม 

ประเด็นที่สอง เป็นผลการศึกษาในเรื่องของความยากจนของครัวเรือนมุสลิมไทย พบว่า ในปี 2560 ครัวเรือนมุสลิมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มากที่สุด ขณะที่ในปี 2562 ภาคใต้ตอนบนมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มากที่สุด ซึ่งยังต้องการการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อหาสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนของมุสลิมไทยที่มีฐานะยากจน (มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน) มากกว่าสัดส่วนชาวไทยโดยรวมที่มีฐานะยากจนประมาณ 2 เท่า ทั้งในปี 2560 และปี 2562 

นั่นหมายความว่า หากสามารถลดสัดส่วนของมุสลิมไทยที่มีความยากจนได้ ก็จะสามารถลดสัดส่วนจำนวนคนยากจนในระดับประเทศได้อีกด้วย กล่าวโดยสรุป ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่างควรเป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญลำดับแรก ๆ ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของมุสลิมไทยนั่นเอง


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 222
เดือนมิถุนายน 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม