อลินา รายงาน
การดำเนินงานซะกาตในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. ได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรในการดำเนินงานซะกาต มีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายกองทุนซะกาตให้เข้มแข็ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรพันธมิตรและลูกข่ายได้เรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนกองทุนซะกาตร่วมกับต้นแบบกองทุนซะกาต สสม.
ให้มีพัฒนาการด้านการบริหารจัดการซะกาต อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ได้ขยายเครือข่ายกองทุนซะกาตครอบคลุม 7 องค์กรในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่
- ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ปัตตานี
- สมาพันธ์ผู้บริหารมัสยิด 4 อำเภอ จ.สงขลา
- คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล
- คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่
- คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนอง
- ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ จ.ตรัง
- เครือข่ายมัสยิดหะยีดาวูด จ.นราธิวาส
โดยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนซะกาตในพื้นที่ อย่างน้อยพื้นที่ละ 9 กองทุน รวม 63 กองทุน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวทีสร้างความเข้าใจ และเวทีการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรศาสนา อาทิ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนา ชมรมอิหม่ามประจำอำเภอ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ และสัปบุรุษประจำมัสยิด
มีแนวทางและกระบวนการที่สำคัญในการจัดการระบบซะกาต เพื่อให้แน่ใจว่าเงินซะกาตจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักการอิสลาม รายละเอียดดังนี้
-
เริ่มต้นด้วยการประชุมคณะกรรมการมัสยิด (กอม.)
เพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุนซะกาตและประชุมพิจารณาคัดเลือก สรรหา แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนซะกาต ประกอบด้วย ประธานกองทุน รองประธานฯ ฝ่ายจัดเก็บ ฝ่ายแจกจ่าย เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล เหรัญญิกฯ และฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทุน -
การรวบรวมซะกาต
เริ่มต้นด้วยการประกาศ และเชิญชวนให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์ต้องจ่าย (ผู้ที่มีทรัพย์สินเกินเกณฑ์ที่กำหนด) เข้ามาบริจาค โดยประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทาง ให้จ่ายผ่านกองทุนซะกาตประจำมัสยิด เช่น คุตบะห์ประจำวันศุกร์ เสียงตามสายของชุมชน สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น -
การคัดเลือกผู้รับซะกาต
เมื่อรวบรวมซะกาตแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะทำการคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาต ซึ่งสัปบุรุษหรือผู้นำในชุมชน มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้มีสิทธิ์รับซะกาต โดยพิจารณาจากกลุ่มที่มีความยากจนและขาดแคลน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เด็กกำพร้า ให้ทุนการศึกษา เป็นต้น โดยกรรมการจะมีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เพื่อป้องกันการทุจริต -
การแจกจ่ายซะกาต
แจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์รับซะกาต ทั้ง 8 ประเภท มีจำนวนผู้จ่ายรวม 1,159 ราย จำนวนเงิน 525,915 บาท และจัดสรรเงินให้กับผู้มีสิทธิ์รับ จำนวน 694 ราย เน้นการแจกจ่ายแก่ผู้ยากจน (ฟากิร) ผู้ขัดสน (มิสกิน) เป็นลำดับแรก โดยเงินหรือสิ่งของที่ได้รับจากการบริจาคซะกาต จะถูกแจกจ่ายตามจำนวนและความต้องการของแต่ละกลุ่ม จะมีการบันทึกข้อมูลผ่านแบบฟอร์มอย่างรัดกุม เพื่อให้มั่นใจว่าเงินซะกาตจะถึงมือผู้ที่ต้องการจริง ๆ การแจกจ่ายอาจทำในรูปแบบเงินสดหรือสิ่งของที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร เสื้อผ้า หรือเครื่องมือในการทำอาชีพ เพื่อให้เงินซะกาต ได้เข้าถึงผู้มีสิทธิ์รับอย่างทั่วถึง -
การตรวจสอบและติดตามผล
คณะกรรมการจะมีการตรวจสอบและติดตามผลการรับเงินซะกาต เพื่อให้แน่ใจว่าผู้รับซะกาตสามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์ได้จริง และไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม -
การรายงานผล
คณะกรรมการจะรายงานผลการดำเนินงานและปิดประกาศไว้ ให้ประชาชนและผู้บริจาคได้รับทราบ โดยอาจจะทำในรูปแบบการประชุมหรือการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อที่มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
การดำเนินงานซะกาตในพื้นที่นั้นไม่เพียงแต่ช่วยลดความยากจนและช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน แต่ยังเป็นการส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน และส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาอย่างเป็นระบบและมีความรับผิดชอบ การบริหารจัดการที่ดีและโปร่งใส จะช่วยให้ทรัพยากรที่ได้รับจากการจ่ายซะกาต สามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาวสำหรับสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น