ว่าด้วยเรื่องมัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย

    อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ประกาศห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2561 ปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดคุยกันในเรื่องของเขตปลอดบุหรี่ นั้นคือ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุชื่อของสถานที่สาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ไว้ โดยสรุปได้ดังนี้

    ข้อ 4 ให้สถานที่ดังต่อไปนี้เป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้พื้นที่และบริเวณทั้งหมดซึ่งใช้ประกอบภารกิจของสถานที่นั้น ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม เป็นเขตปลอดบุหรี่
  1. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
  2. สถานศึกษา หรือสถานที่เพื่อการเรียนรู้และฝึกอบรม
  3. สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
    1. สถานที่ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา ทั้งในร่มและกลางแจ้ง
    2. สถานที่ให้บริการ ร้านค้า และสถานบันเทิง
    3. สถานที่สาธารณะอื่น
      • สถานที่ทางศาสนา ศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับ ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนา ลัทธิ หรือนิกายต่าง ๆ
      • สถานรับดูแลหรือสงเคราะห์ ผู้หญิง ผู้ชรา ผู้พิการ หรือสมาคม มูลนิธิ หรือสถานประกอบการในลักษณะเดียวกัน
คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่นี่   



กลางปี 2562 รายงานข่าวโดยผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)เปิดเผยว่ากรมควบคุมโรคขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด และศาสนสถานทุกแห่งที่อยู่ในกำกับดูแลให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องดังนี้ 
    1. พื้นที่และบริเวณทั้งหมดของสถานที่ทางศาสนา ศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนา ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม เป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของสถานที่ และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.2561 
    2. เจ้าอาวาส หรือบุคคลอื่นซึ่งมีฐานะเป็นผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่ทางศาสนา ศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนา ต้องดำเนินการจัดเขตปลอดบุหรี่ หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 
    3. เจ้าอาวาส หรือบุคคลอื่นซึ่งมีฐานะเป็นผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่ทางศาสนา ศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนา มีหน้าที่แจ้งเตือนว่า สถานที่นั้นเป็นเขตปลอดบุหรี่ ทั้งต้องควบคุม ดูแล ห้ามปราม เพื่อไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ กรณีไม่ปฏิบัติตามต้องโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท 
    4. กรณีมีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ ผู้ฝ่าฝืนต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
    สำหรับองค์กรมุสลิม ผู้เขียนไม่ทราบว่ามีหนังสือของกรมควบคุมโรคแจ้งขอความร่วมมือมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร  จากหนังสือขอความร่วมมือฉบับนี้ ก็สามารถตีความตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้ว่า มัสยิด รวมไปถึง สมาคม มูลนิธิ เป็นสถานที่สาธารณะอื่นๆ ย่อมเป็นเขตปลอดบุหรี่ นั้นก็หมายความว่า อิหม่าม หรือบุคคลอื่นซึ่งมีฐานะเป็นผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่ทางศาสนา สมาคม มูลนิธิ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  ถ้าไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิด ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ทางออกของปัญหา อิหม่ามและกรรมการมัสยิด รวมไปถึงผู้รับผิดชอบสมาคมและมูลนิธิ ต้องทำความเข้าใจประกาศนี้ เพื่อปกป้องสิทธิ สุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่  อย่างจริงจัง

จาก : 
คอลัมน์ หน้าบ้าน
วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 195 เดือน มิถุนายน 2563

ความคิดเห็น