มุสลิมกับการสูบบุหรี่

        ทุกประเทศทั่วโลกถือว่ายาเสพติด หรือสิ่งเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายในการซื้อหรือขายอย่างเคร่งครัด แต่น่าแปลกเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งเสพติดสองชนิด คือ บุหรี่และเหล้า ที่นอกจากจะไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว ยังได้รับอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาอย่างกว้างขวาง มิหนำซ้ำ ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย รัฐบาลยังเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเสียเอง 

        ผลร้ายของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางมานาน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอดและหลอดลม หลอดลมโป่งพอง, โรคหัวใจ, เส้นเลือดแข็งหรือตีบตัน และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ความรู้เหล่านี้ไม่ค่อยมีผลโดยตรงที่จะทำให้คนสูบบุหรี่ลดจำนวนลงแต่อย่างใด แต่กลับจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลร้ายของบุหรี่ต่อสุขภาพเกิดขึ้นอย่างช้าๆ กว่าจะรู้สึกตัวก็ติดบุหรี่จนถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คืออิทธิพลและวิธีการตลาดอันฉลาดแกมโกงของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ ที่ทำให้วัยรุ่นคิดอยากลองสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การแจกตัวอย่างฟรี การสนับสนุนทุนการศึกษา การสนับสนุนการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะการแข่งรถ การแทรกฉากการสูบบุหรี่อย่างพร่ำเพรื่อในภาพยนตร์ รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกับบุหรี่ เช่นน้ำหอมหรือเสื้อผ้า

        นับว่ายังโชคดีอยู่บ้างสำหรับประเทศไทยที่มีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2532 ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มาตรการควบคุมบุหรี่ส่งผลให้มีแนวโน้มของอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันที่มีการสื่อสารที่ทันสมัยสามารถติดต่อกันได้อย่างทั่วถึงทุกมุมโลก ทำให้แต่ละประเทศประสบความยากลำบากในการควบคุมการเผยแพร่โฆษณาส่งเสริมการสูบบุหรี่จากประเทศอื่นได้

ปัญหาของมุสลิมกับการสูบบุหรี่

        การที่ผมนำเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนเพราะได้เห็นถึงปัญหาอย่างชัดเจนของการนิยมสูบบุหรี่ในหมู่มุสลิม ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงในประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วย ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมุสลิมสูงที่สุดในโลก (ประมาณ 225 ล้านคน) พบว่าร้อยละ 59 ของผู้ชายอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือบังคลาเทศ ซึ่งมีประชากร 152 ล้านคน ร้อยละ 54 ของผู้ชายกลุ่มอายุเดียวกันสูบบุหรี่ สำหรับ ซาอุดิอาระเบีย, อียิปต์ และปากีสถาน อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 35 – 40

ในประเทศไทย สถิติสำหรับปี 2547 พบว่าผู้ชายอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 39 (ลดลงจากร้อยละ 56 ในปี 2534) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสำรวจโดยเฉพาะว่า มุสลิมในประเทศไทย มีอัตราการสูบบุหรี่สูงเท่าใด แต่จากการสังเกตทั่วๆ ไปคงเป็นที่ยอมรับว่า ผู้ชายมุสลิมสูบบุหรี่กันอย่างกว้างขวาง เวลาเราไปละหมาดวันศุกร์ หรือเวลาร่วมงานเฉลิมฉลองต่างๆ ตามสุเหร่า จะเห็นกลุ่มพี่น้องมุสลิมนั่งร่วมวงสนทนา ซดน้ำชาและสูบบุหรี่ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ยังพบว่า ครูสอนศาสนา และผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับศาสนาติดบุหรี่ รวมทั้งป่วยและตายด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่จำนวนไม่น้อย

        จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2547 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ในชายอายุ 15 ปีขึ้นไปในภาคใต้ สูงกว่าภาคอื่นๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และที่ชัดเจนกว่านั้นพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ในจังหวัดสตูล, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส (ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) อยู่ระหว่างร้อยละ 47-53 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 44 หากวิเคราะห์จากข้อมูลเหล่านี้ก็พอสรุปได้โดยทางอ้อมว่ามุสลิมไทยมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าคนที่ไม่ใช่มุสลิม 

อาจมีหลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ มุสลิมสูบบุหรี่กันมากเพราะไม่มีคำสั่งห้ามการสูบบุหรี่ที่ชัดเจนในอิสลามเหมือนห้ามการดื่มเหล้า จึงสูบบุหรี่แทนการดื่มเหล้ากระนั้นหรือ?  ข้อสงสัยนี้อาจตอบได้อย่างสั้นๆ ว่า อิสลามมีข้อห้ามอย่างชัดเจนที่ครอบคลุมถึงการสูบบุหรี่ (ซึ่งจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป) ปัญหาอยู่ที่การเผยแพร่การตีความของข้อห้ามนี้มิได้ทำอย่างมีระบบ และไม่สามารถกระจายข้อมูลความรู้เหล่านี้ถึงพี่น้องมุสลิมอย่างทั่วถึง

ในยุคของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ยังไม่มีใครรู้จักใบยาสูบ และไม่มีการสูบบุหรี่เหมือนกับการดื่มเหล้า จึงเป็นความจริงว่าไม่มีโองการกุรอานหรือหะดีษกล่าวถึงบุหรี่โดยเฉพาะ แม้แต่ในยุคของท่านอิหม่ามทั้งสี่ บุหรี่เริ่มเป็นที่รู้จักและเสพกันในช่วง 600 ปีมานี้เอง และเริ่มแพร่หลายสู่กลุ่มประเทศมุสลิม ประมาณฮิจเราะห์ศักราช 1100 หรือ ประมาณ 300 กว่าปีมาแล้ว ในระยะแรกๆ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิของทั้งสี่มัซฮับ ได้พยายามรวบรวมความคิดที่จะตัดสินให้เด็ดขาดลงไปว่าการสูบบุหรี่ฮารอมหรือไม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ส่วนใหญ่ตัดสินว่าฮารอม บางกลุ่มไม่ถือว่าฮารอม แต่เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่งถือว่าอนุญาตให้สูบได้ 

*กลุ่มที่ถือว่าการสูบบุหรี่ฮารอม  กลุ่มนี้รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อย 11 ท่านจากทั้งสี่มัซฮับ สถาบันทางศาสนาชั้นนำ เช่น Al-Azhar Fatwa Committee, International Islamic Conference และ Grand Mufti of Saudi Arabia ให้เหตุผลจากหลักฐานต่อไปนี้

        • จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์ การสูบบุหรี่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ และสิ่งใดก็ตามที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ ถือเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา
        • บุหรี่ถือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม (และย่อมนำสู่การเสพติด) อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามคำสอนของอิสลาม ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ห้ามทุกสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย หรือก่อให้เกิดความเคลิบเคลิ้มหรือมึนเมา
        • บุหรี่ก่อให้เกิดกลิ่นที่น่ารังเกียจ และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียงที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเมื่อมีการชุมนุมกันเพื่อการละหมาด หรือเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้ที่รับประทานกระเทียมหรือหัวหอม ต้องอยู่ห่างจากพวกเราหรือจากมัสยิด และควรจะอยู่ที่บ้านดีกว่า” และ “ใครก็ตามก่อความไม่พอใจแก่พี่น้องมุสลิม เขาผู้นั้นก่อความไม่พอใจแก่ฉัน และใครก็ตามก่อความไม่พอใจแก่ฉัน เขาผู้นั้นก่อความไม่พอใจต่อองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ)”
        • บุหรี่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังเป็นโทษต่อสุขภาพด้วย ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน

*กลุ่มที่ถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (แต่ไม่ฮารอม) ให้เหตุผลดังต่อไปนี้

        • บุหรี่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เช่นเดียวกับหอมและกระเทียม ผู้มีศรัทธาควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
        • อันตรายต่อสุขภาพยังไม่มีข้อตกลงแน่นอน ผู้ที่คิดว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริง ก็ถือว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ทรงความรู้ท่านนี้นำบุหรี่ไปเปรียบกับน้ำผึ้ง ซึ่งระบุไว้ในกุรอานว่า มันมีทั้งคุณและโทษ (แต่ไม่เป็นสิ่งต้องห้าม)

        *กลุ่มที่ถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งอนุมัติ ให้เหตุผลว่า

        • เป็นที่ทราบกันดีว่ามุสลิมจำนวนมากสูบบุหรี่ การตัดสินว่าบุหรี่เป็นสิ่งอนุมัติจะช่วยผ่อนคลายปัญหาอย่างมาก (ไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าผ่อนคลายปัญหาด้านใด)
        • เมื่อใดก็ตามที่มีสองสิ่งให้เลือก ท่านศาสนทูตเลือกสิ่งที่ง่าย
        • บุหรี่เป็นสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องนำเกี่ยวข้องกับศาสนา
        • บุหรี่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด จึงไม่เป็นสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติอิสลาม

กล่าวโดยสรุป ผู้ทรงความรู้ที่ตัดสินว่าบุหรี่เป็นสิ่งอนุมัติ ตัดสินบนพื้นฐานที่ว่า ก) ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้เฉพาะเกี่ยวกับการสูบบุหรี่และระบุว่ามันเป็นสิ่งต้องห้าม ข) ไม่มีหลักฐาน (ในขณะนั้น) ว่าบุหรี่เป็นพิษต่อร่างกายหรือมีผลทางประสาท อย่างไรก็ตาม หลังจากการตัดสินของผู้ทรงความรู้เหล่านี้ ก็ได้ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนมากมายอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า บุหรี่มีผลร้ายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อทั้งผู้สูบเอง และต่อผู้ได้รับควันบุหรี่ทั้งๆ ที่ไม่ได้สูบเอง โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังที่ยากแก่การรักษา และมีโอกาสสูงที่จะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เหตุผลที่นำมาอ้างว่าบุหรี่ไม่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพจึงตกไปโดยสิ้นเชิง

ด้วยหลักฐานทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศบังคับให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่พิมพ์คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของมันไว้บนซอง ถ้าบุหรี่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพจริง ไม่มีทางที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่จะยอมปฏิบัติตาม  เพราะโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจ อย่าว่าแต่พูดถึงโทษหรืออันตรายของสินค้าเลย แม้แต่จุดอ่อนก็ไม่อยากเอ่ยถึง มีแต่จะโฆษณาคุณภาพเกินความเป็นจริง 

หลักฐานทางการแพทย์เหล่านี้จึงนำมาประยุกต์เข้าบัญญัติของอิสลามได้เป็นอย่างดีเพื่อการตัดสินว่าการสูบบุหรี่ฮารอม อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ทรงห้ามการทำลายตัวเอง ดังโองการจากอัลกุรอาน (3:29) ที่ว่า “ห้ามสูเจ้าฆ่าตัวตาย เพราะแท้จริงอัลลอฮฺกรุณาต่อสูเจ้ายิ่ง” ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้อีกว่า “อย่าทำร้ายตนเองและผู้อื่น” นอกจากนี้ อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ทรงให้ยกเว้นแม้แต่การอาบน้ำละหมาดสำหรับผู้ป่วยที่จะทำการละหมาด หากว่าการอาบน้ำละหมาดจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

นอกเหนือจากข้อบัญญัติห้ามในด้านการทำร้ายร่างกายแล้ว ยังมีข้อห้ามในเรื่องการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย การสูบบุหรี่เท่ากับเป็นการเผาทรัพย์สินให้หายไปเป็นเถ้าและควัน พร้อมกับนำโรคภัยมาสู่ตัวเอง

กล่าวโดยสรุป มีหลักฐาน 5 อย่างในบัญญัติอิสลามที่ใช้ในการตัดสินว่าการสูบบุหรี่ฮารอม
        • เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง 
        • เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง
        • เป็นสิ่งเสพติด
        • ก่อความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง
        • เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย

ผู้ที่มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ในระยะ 4-5 ปีหลังนี้คงจะสังเกตเห็นว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ทำการรณรงค์อย่างจริงจังในการต่อต้านการสูบบุหรี่ ทุกๆ ปี จะเห็นป้าย “Tobacco Free Hajj” (พิธีฮัจญ์ปลอดบุหรี่) ขนาดใหญ่ ติดอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ทั่วไป ในมักกะฮ์ มีนา และมะดีนะฮ์ เพราะรัฐบาลตระหนักถึงผลร้ายของการสูบบุหรี่ รวมถึงการก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในภาวะที่มีผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อยู่รวมกันอย่างแออัด

คนติดบุหรี่จะเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างไร? 

คำแนะนำที่จะให้ในที่นี้ เป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้ยาช่วย แต่เป็นการใช้ความตั้งใจและกำลังใจเสียมากกว่า ก่อนที่จะให้คำแนะนำ ผมขอยกตัวอย่างของผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จในกรณีต่างๆ (โดยไม่ต้องใช้ยา) มาให้พิจารณา

*ตัวอย่างที่ 1 ในปี 2522 ผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานในหน่วยพยาบาลไทยในมักกะฮ์และมะดีนะฮ์พร้อมกับคุณหมอท่านหนึ่ง ในระหว่างที่อยู่ในมักกะฮ์คุณหมอได้รับความช่วยเหลือจากนักเรียนไทยในมักกะฮ์ให้ได้พบกับอิหม่ามของมัสยิดอัลฮะรอม คุณหมอเล่าว่า ทันทีที่อิหม่ามเห็นซองบุหรี่ในเสื้อคลุม อิหม่ามได้ขอให้คุณหมอเอาบุหรี่และที่จุดบุหรี่ออกจากกระเป๋าเสียก่อนจึงจะคุยด้วย ก่อนที่จะลาอิหม่ามออกมา ท่านได้ขอให้คุณหมอสัญญาว่าจะเลิกสูบบุหรี่ตลอดไป คุณหมอได้รักษาสัญญาเป็นอย่างดี และสามารถเลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่นั้นมา

*ตัวอย่างที่ 2 เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วผมได้เดินทางจากนครสวรรค์กลับกรุงเทพฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งด้วยรถทัวร์ปรับอากาศ ซึ่งเป็นการเดินทางตอนกลางคืน ขณะที่รอเวลารถออกจากสถานี มีผู้โดยสารคนหนึ่งกำลังจะจุดบุหรี่สูบ ผู้โดยสารที่นั่งใกล้เคียงต่างโวยวายว่าสูบไม่ได้ เพื่อนของผมเป็นคนติดบุหรี่อย่างหนักชนิดมวนต่อมวนกำลังสังเกตดูอยู่ และคิดว่าถ้าผู้โดยสารคนนั้นสูบได้เขาก็จะสูบเหมือนกัน เมื่อเห็นปฏิกิริยาของผู้โดยสารอื่นๆ แล้วจึงเลิกล้มความตั้งใจ หลังจากรถวิ่งมาได้ประมาณ 3 ชั่วโมง รถก็จอดให้ผู้โดยสารลงไปพักผ่อน ทันทีที่ลงจากรถเพื่อนผมก็ควักบุหรี่ออกมาทันที แต่ก่อนที่จะจุดสูบก็ฉุกคิดว่าเราอดมาได้ตั้ง 3 ชั่วโมงทำไมจะอดต่อให้ถึงปลายทางไม่ได้ จึงเก็บบุหรี่เข้ากระเป๋า อีกประมาณ 3 ชั่วโมงต่อมา รถถึงปลายทางตลาดหมอชิต เพื่อนผมจึงเตรียมจะสูบบุหรี่เต็มที่ แต่ก็เกิดฉุกคิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งว่า เราอดมาได้ตั้ง 6 ชั่วโมง ทำไมจะอดต่อไปไม่ได้ เชื่อหรือไม่ว่าเพื่อนผมคนนี้สามารถงดบุหรี่ได้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

*ตัวอย่างที่ 3 เป็นการเลิกบุหรี่จากความกดดันภายในครอบครัว พ่อติดบุหรี่อย่างหนัก วันหนึ่งมาพบว่าลูกสาวซึ่งกำลังย่างเข้าวัยรุ่นเริ่มสูบบุหรี่ ตนเองไม่สามารถห้ามได้เพราะเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นอยู่ จึงต้องตัดสินใจเลิก

*ตัวอย่างที่ 4 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคที่เกิดจากพิษภัยของบุหรี่ ถ้าไม่เลิกโรคจะไม่หายและจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

        ทั้งสี่ตัวอย่างดังกล่าว เป็นการเลิกบุหรี่โดยไม่ต้องใช้ยาช่วย เป็นการเลิกด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามคงมีไม่กี่คนที่จะโชคดีอย่างคุณหมอในตัวอย่างแรก และเราก็ไม่อยากรอให้เกิดปัญหาเหมือนตัวอย่างที่สาม และตัวอย่างที่สี่จึงจะคิดเลิกบุหรี่ แต่อยากจะเห็นการเลิกบุหรี่ตามตัวอย่างที่สองให้มากที่สุด ทั้งสี่ตัวอย่างมีหลักสำคัญแห่งความสำเร็จร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดโดยทันทีทันใด (เพราะไม่เคยมีใครเลิกบุหรี่สำเร็จโดยการลดขนาดลงทีละเล็กทีละน้อย) การที่จะทำได้เช่นนี้จะต้องมีความตั้งใจว่าจะเลิกจริงๆ และจิตใจต้องเข้มแข็งแน่วแน่จริงๆ ถ้าไม่มีความตั้งใจจริงก็ไม่มีทางสำเร็จ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมุสลิมที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ในเดือนถือศีลอด ทั้งๆที่สามารถอดมาในแต่ละวันได้ติดต่อกัน 10-12 ชั่วโมง เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจว่าจะเลิก แต่ตั้งความหวังว่าจะอัดบุหรี่ให้เต็มที่ทันทีที่ได้เวลาละศีลอด 

        จะว่าไปตัวอย่างของเพื่อนผมที่เลิกบุหรี่ได้เองย่อมเป็นฮิดายะฮ์จากองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ)ให้เกิดความตั้งใจอย่างกะทันหันที่จะเลิกบุหรี่ การที่จะพยายามอธิบายชี้แนะแก่คนติดบุหรี่ถึงอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพเพื่อให้เขาเลิกบุหรี่มักไม่ค่อยได้ผล ไม่ใช่เพราะเขาไม่เชื่อหรือไม่รู้ แต่เป็นเพราะยังไม่อยากเลิกเอง (เนื่องจากเสพติดเข้าไปแล้ว) การแนะนำเรื่องภัยของบุหรี่จะได้ผลดีกว่าในคนที่ยังไม่ติดบุหรี่

การที่จะช่วยให้พี่น้องมุสลิมที่ติดบุหรี่สำเร็จมีอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ

        1. ปลูกฝังความคิดความศรัทธาให้ยอมรับว่าการสูบบุหรี่ฮารอม
        2. ผู้ติดบุหรี่ต้องขอพรต่อองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ให้พระองค์โปรดประทานความตั้งใจจริง และความเข้มแข็งในการเลิกสูบบุหรี่
        3. กำหนดวันที่จะทำการเลิกบุหรี่ แล้วเลิกโดยฉับพลันทันที เดือนรอมฎอนถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งโอกาสหนึ่ง

ไม่เคยปรากฏว่ามีผู้ใดที่เลิกบุหรี่อย่างฉับพลัน (หักดิบ) แล้วเกิดผลร้ายต่อสุขภาพเลย จะมีก็เพียงความรู้สึกหงุดหงิดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกเท่านั้น ถ้าผ่านระยะนี้ไปได้ก็จะสบาย แต่อาจยังมีความอยากหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าอดใจต่อไปอีกก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด ลองคุยกับคนที่เลิกบุหรี่สำเร็จว่าสุขภาพก่อนเลิกกับหลังเลิกบุหรี่ต่างกันอย่างไร คนหนุ่มอาจจะบอกว่าสามารถเล่นกีฬาได้ตลอดเกมโดยไม่เหนื่อยเหมือนก่อน คนสูงอายุอาจบอกว่าสามารถเดินได้ไกลขึ้นกว่าเดิม

หน้าที่ของพี่น้องมุสลิมในการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ต้องทำไปสองด้านพร้อมๆ กัน คือ 

        ก) ป้องกันมิให้เยาวชนริเริ่มการสูบบุหรี่โดยการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ และไม่แสดงตัวอย่างไม่ดีให้ลูกหลานเห็น 
        ข) ช่วยเหลือแนะนำให้ผู้ที่ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่

รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาและการจำหน่ายบุหรี่ การขึ้นภาษีบุหรี่ และการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ วิธีการเหล่านี้ ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องอาศัยเวลาจึงจะเห็นผล  ในประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2534   นอกจากกฎหมายที่ออกมาเพื่อลดการสูบบุหรี่แล้ว กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาเพราะมีหลักฐานแน่ชัดว่า ผู้ไม่สูบบุหรี่หากหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปก็มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากพิษภัยของบุหรี่ เช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ กฎหมายนี้จึงห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะต่างๆที่มีคนอยู่ร่วมกันหลายๆคน ซึ่งรวมถึงศาสนสถานด้วย การสูบบุหรี่ในศาสนสถาน (รวมถึงมัสยิด) จึงถือว่าผิดกฎหมาย

โดยความเป็นจริง คำสอนของศาสนาอิสลามมีกำหนดข้อห้ามสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพ และที่เกี่ยวกับจริยธรรมกว้างขวางกว่าข้อกำหนดในกฎหมายมากมาย มีหลายอย่างที่กระทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดหลักการของศาสนาอิสลาม เช่นการดื่มสุรา การบริโภคสัตว์ตายโดยไม่ผ่านการเชือด แต่เมื่อมาถึงเรื่องการสูบบุหรี่ หลายมัสยิดกลับยังปล่อยให้ผู้มาร่วมละหมาดสูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิดอย่างเปิดเผย ทำให้ดูเหมือนกับว่าคำสอนของศาสนาอิสลามล้าหลังกว่ากฎหมาย  ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันรณรงค์เพื่อ “มัสยิดปลอดบุหรี่”

ความจริง อิสลามในประเทศไทยมีโครงสร้างองค์กรที่ดีมาก เรามีสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นศูนย์กลางที่ปรึกษาแนะนำกิจกรรมของศาสนาอิสลามทั่วประเทศ มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในหลายจังหวัด และมีคณะกรรมการมัสยิดในทุกชุมชนมุสลิมที่มีการก่อตั้งมัสยิดอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากองค์กรเหล่านี้อย่างเพียงพอ ผมเชื่อว่าถ้าสำนักจุฬาราชมนตรีมีฟัตวาว่าการสูบบุหรี่ฮารอม และผ่านฟัตวานี้ไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการมัสยิดตามลำดับ การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในกลุ่มมุสลิมจะได้ผลเป็นอย่างดี และถ้าจะให้เห็นผลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น กรรมการทุกระดับที่สูบบุหรี่ต้องเลิกบุหรี่ก่อนเป็นตัวอย่าง

มีหลักฐาน ให้เห็น ที่เด่นชัด
ในบัญญัติ อิสลาม ห้ามบุหรี่
ไม่ต้องตี ความไป ให้มากมี
ควรช่วยชี้ ทางถูก ลูกหลานเรา

เสพบุหรี่ มีภัย ต่อชีวิต
คนเสพติด คิดให้ดี ที่สูญเปล่า
จงตักเตือน คนสนิท ใกล้ชิดเรา
อย่ามัวเมา ลิ้มลอง ของฮารอม

เลิกสูบเถิด พ่อแม่ เห็นแก่ลูก
ความพันผูก แค่ไหน ไม่ต้องถาม
จงปลูกฝัง แต่ตัวอย่าง ที่ดีงาม
ลูกจะตาม พ่อแม่ อย่างแน่นอน
        ขอองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ทรงโปรดประทานฮิดายะฮ์แก่ผู้ติดบุหรี่ทั้งมวล ให้เกิดความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ และประสบผลสำเร็จในการเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดด้วย และขอพระองค์ทรงโปรดคุ้มครองเยาวชนมุสลิมให้ห่างไกลจากการลิ้มลองบุหรี่และการติดบุหรี่ด้วยเถิด...อามีน
เอกสารอ้างอิง
1. การสาธารณสุขไทย 2544-2547 กระทรวงสาธารณสุข
2. Islamic Ruling on Smoking – Dr Hamid Jamie, Former Secretary of Al-Azhar University, Consultant, Islamic Fiqh Encyclopaedia, Kuwait.
3. สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ. 2534-2547 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. 2549
หมายเหตุ 
คุณหมอสวัสดิ์ รามบุตร อดีตที่ปรึกษาอาวุโส ประจำสำนักงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กรุณาเขียนบทความ
เรื่องมุสลิมกับการสูบบุหรี่ เพื่อคุณผู้อ่าน “สุขสาระ” แต่เนื่องจากบทความนี้ ค่อนข้างยาว สุขสาระ จึงได้แบ่งบทความออกเป็น 4 ตอน “สุขสาระ”ได้เสนอบทความตอนที่ 1 ในฉบับเดือนมกราคม 2553 – เมษายน 2553 ที่ผ่านมา 
สำหรับในฉบับออนไลน์ ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ ได้จัดพิมพ์บทความทั้งหมดในฉบับนี้ โดยไม่ได้แบ่งเป็นตอนๆ ดังที่ผ่านมา

จาก : 
คอลัมน์ รอบโลกข่าวบุหรี่
วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 195 เดือน มิถุนายน 2563

ความคิดเห็น