โควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต่างมีมาตรการที่แตกต่างกัน ในส่วนของประเทศไทยมาตรการเบื้องต้นคือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่มีมาตรการเพิ่มเติมที่ผุดขึ้นในช่วงนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือนักการเมือง ต่างทำกันคือการพ่นยาเพื่อฆ่าเชื้อโควิด
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การฆ่าเชื้อด้วยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถกำจัดเชื้อได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อฆ่าเชื้อได้จริง แต่ความเป็นจริงมากกว่าคือเชื้อไม่ได้อยู่ในพื้นหรือสถานที่ทั่วไป หากแต่อยู่ในตัวคนมากกว่า จึงไม่แนะนำให้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามสถานที่ต่างๆ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย
"การพ่นยาฆ่าเชื้อไม่ควรทำเลยไม่ว่าที่ใด แม้แต่ในโรงพยาบาลเราก็ไม่ได้ทำกัน เพียงเช็ดถูธรรมดาเพราะฉีดพ่นไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ วิธีการทำความสะอาดบ้าน ถ้าหากในบ้านไม่มีผู้ป่วยก็ใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป หากมีผู้ป่วยที่กักกันตนเอง ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหรือไม่ บริเวณพื้นที่ผู้ป่วยใช้งานให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ หรือสารฟอกขาวผสมในการทำความสะอาดเช็ดถูกก็เพียงพอแล้ว รวมถึงการนำไปฉีดผิวหนัง ร่างกาย เสื้อผ้าก็ไม่ตรง เราไม่ได้ทำลายเชื้ออยู่ดี ไม่แนะนำ สารเคมีไม่มีอันตรายกับคนเท่าไหร่ แต่บางคนอาจจะเกิดการแพ้ ระคายเคืองผิวหนัง ทางเดินหายใจได้เช่นกัน"
“การทำความสะอาดมือของตนเองยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมถึงอย่าเอามือไปขยี้ตา แคะจมูก หยิบของเข้าปาก เมื่อใดที่มือสะอาดทุกคนก็จะปลอดภัย เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะออกมาปนในสิ่งแวดล้อมนั้นน้อยมาก แม้การวิจัยจะพบว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แต่นั่นเป็นเพียงการทดลอง ที่ผ่านมายังไม่มีใครที่ติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเลย ทุกคนล้วนมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยทั้งสิ้น..นายกสมาคมโรคติดเชื้อฯกล่าว
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำในการทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เอาไว้ ดังนี้
- ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่สัมผัสบ่อย (เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต) เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70-90% และปล่อยให้แห้ง
- พื้นผิวที่สัมผัสบ่อย (เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ หรือข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่สัมผัสบ่อย และห้องน้ำ) เช็ดด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาว (3-6% โซเดียมไฮโปคลอไรท์) ผสมน้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำ 49 ส่วน เข่น ไฮเตอร์ 1 ฝาขวด (ประมาณ 10 ซีซี) ผสมน้ำครึ่งลิตร เช็ด หรือแช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที แล้วเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด
- พื้นผิวโลหะ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90% ปล่อยให้แห้ง ห้ามใช้น้ำยาฟอกขาว เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนโลหะได้
- ผ้า (เช่น ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ผ้าขนหนู เสื้อผ้าต่างๆ) ซักผ้าตามปกติ ใช้ผงซักฟอกธรรมดา และน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส
- การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค สำหรับการทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ และพื้นผิวโลหะต่าง ๆ ยังสามารถทำความสะอาดได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค (เช่น เดทตอล รุ่นมีมงกุฎ ตัวยาคลอโรไซลีนอล) ผสมน้ำยา 1 ฝาขวดกับน้ำ 2 แก้วน้ำดื่ม เช็ด หรือแช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที
ข้อมูล
https://www.thaipost.net/main/detail/63376
https://www.pptvhd36.com/news/123651
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น