ราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ "New Normal" ไว้ว่า คือ ความปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ ที่หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
New Normal ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 โดย บิลล์ กรอสส์ นักลงทุนในตราสารหนี้ชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO)
กรอสส์ใช้คำนี้นิยามสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2007-2008 ในสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) ช่วงปี 2008-2012 ทั่วโลก
ที่ต้องใช้คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) เพราะเดิมทีวิกฤติเศรษฐกิจจะมีรูปแบบค่อนข้างตายตัวและเป็นวงจรเดิม คือเมื่อเศรษฐกิจเติบโตไปได้ช่วงระยะหนึ่ง จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ และหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่นานเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว แล้วก็กลับมาเติบโตอีกครั้งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘เรื่องปกติ’ (Normal) ก็ได้
วันนี้ โลกเกิดวิกฤติโควิด-19 คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งแต่ขยายวงออกไปในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา ชีวิตประจำวัน หรือ ภาคสังคม อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเกิดใหม่หลังโควิด-19 วิถีชีวิตแบบใหม่ก็จะถูกเรียกว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal)
การปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับความพยายามรักษาและฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจ จึงนำไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนแนวคิด วิสัยทัศน์ วิธีการจัดการ รวมไปถึงพฤติกรรมที่เคยทำมาเป็นประจำ
ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งที่จะเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ การทำงานอาจทำจากที่บ้านมากขึ้น หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่แทนการนั่งทานในร้าน หรือการเว้นระยะห่างบนรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ซึ่งสิ่งใหม่เหล่านี้ได้กลายเป็นความปกติใหม่ ๆ จนในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปจนทำให้เกิดความคุ้นชินก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติของผู้คนในสังคมต่อไป
จาก :
วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 196 เดือน กรกฎาคม 2563
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น