เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างกะทันหัน สาเหตุเนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการแน่นหน้าอก, เหนื่อยง่าย, ไอ และหายใจไม่ออก ปกติญาติผู้ใหญ่ท่านนี้ร่างการแข็งแรงดี เพราะมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง จึงต้องมีร่างกายที่เตรียมพร้อมรับงานหนักอยู่เสมอ
ขณะที่ผู้เขียนเข้าไปเยี่ยม ท่านยังรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ตามปกติ แต่ดูอ่อนเพลีย ทานอาหารได้น้อยลง ร่างกายซูบลงเล็กน้อย ภายในห้องผู้ป่วย เต็มไปด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ คุณหมอยังคงให้ออกซิเจน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น
คุณหมอเจ้าของไข้ ได้กรุณาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสาเหตุของอาการป่วยว่า มาจากการสะสมสารพิษจากบุหรี่เข้าไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งคุณหมอได้เปรียบการสูบบุหรี่ว่าเหมือนกับการหยอดกระปุกเป็นประจำทุกวัน เมื่อสูบเข้าไปในร่างกายมากจนร่างกายทนไม่ไหวเมื่อไหร่ ก็ออกอาการเมื่อนั้น
ญาติผู้ใหญ่ท่านนี้เริ่มสูบบุหรี่ ตั้งแต่อายุ 22 ปี ปัจจุบันอายุ 54 ปี เท่ากับว่าร่างกายของท่าน ได้ดูดซับสารพิษจากบุหรี่ไปแล้วถึง 32 ปี ซึ่งนานมากพอที่จะเกิดอาการข้างต้น แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปกับค่าบุหรี่และค่ารักษาตัว ตลอดระยะเวลา 32 ปี ที่ท่านได้จ่ายค่าบุหรี่ไปแล้วไม่น้อยกว่า 220,000 บาท คิดง่ายๆ ว่า สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง ราคาซองละ 20 บาท ในสมัยนั้นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบุหรี่ราคาซองละ 45 บาท
ทุกครั้งที่ควักเงินซื้อบุหรี่ป้อนสารพิษเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่เพียงแต่จะทำให้เงินออมที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายของผู้สูบอ่อนแอลงด้วย
คุณหมอบอกต่อไปว่า ญาติผู้ใหญ่ท่านนี้ได้พยายามจะเลิกอยู่หลายครั้ง โดยลดปริมาณการสูบลงทีละน้อย แต่ไม่เคยสำเร็จ โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนแห่งการถือศีลอดของมุสลิม ที่ห้ามการกินการดื่มตลอดจนห้ามการสูบบุหรี่ตั้งแต่เช้ามืดจนตะวันตกดิน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของมุสลิมทั่วโลกที่จะใช้เวลาในช่วงนี้งดเว้นการสูบบุหรี่ เพื่อจะทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น มุสลิมหลายคนจึงถือโอกาสในเดือนนี้เพื่อเลิกสูบบุหรี่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็ม แต่หลังจากนั้นก็กลับมาสูบเหมือนเคย จะด้วยความเคยชินหรือเหตุผลใดก็แล้วแต่ คุณหมอท่านนี้ได้ให้คำแนะนำผู้ป่วยว่า การเลิกสูบบุหรี่ควรเลิกสูบแบบหักดิบ คือตั้งใจแน่วแน่แล้วก็เลิกเดี๋ยวนั้นเลย ผู้ป่วยที่ติดบุหรี่หลายคนเลือกที่จะลดการสูบลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และหวังว่าจะเลิกได้ในที่สุด แต่มักไม่สำเร็จ
การลดจำนวนสูบบุหรี่ลงเรื่อย ๆ นั้น จึงไม่ใช่วิธีการเลิกสูบบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันผู้ป่วยท่านนี้เลิกสูบบุหรี่เด็ดขาดแล้วหลังจากสูบมาเป็นเวลานานจนต้องเข้าโรงพยาบาลเสียค่ารักษาพยาบาลมากมาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น