บุหรี่การามอันตรายกว่าบุหรี่ธรรมดา

บุหรี่การาม หรือบุหรี่กานพลู มีจุดกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซียในปี 1958 โดยพ่อค้าชาวอินโดนีเซียเชื้อสายไต้หวัน ทจู อิง หวี่ เปิดโรงงานบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย


บุหรี่กานพลูเป็นบุหรี่ชูรสชนิดหนึ่ง แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยมีแหล่งขายในพื้นที่ กทม.เช่นที่ บางกะปิ บางรัก ปทุมวัน จตุจักร ดินแดง ในจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี รวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

บุหรี่ชนิดนี้มีราคาถูกกว่าบุหรี่ทั่วไป แบ่งขาย 3-4 มวน ในราคา 20 บาท ทำให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูดีจูงใจวัยรุ่น พกพาง่าย และเพิ่ม ลูกเล่น เช่น ใส่เม็ดมินต์ และโฆษณาด้วยคำว่า Mild, light เพื่อสื่อให้ผู้สูบหลงเชื่อว่ามีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่

กานพลู

บุหรี่กานพลูเป็นบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาเป็นเวลาหลายปี วางขายอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการจับกุม แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป คือ ผลิตจากใบยาสูบ 60 เปอร์เซ็นต์ และมีกานพลู 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในบุหรี่กานพลูปล่อยกลิ่นหอม มีสารยูจีนอล ซึ่งเป็นยาชาที่ทันตแพทย์ใช้ เมื่อสูบบุหรี่กานพลูจะทำให้หลอดลมชา ทำให้ไม่สำลัก จึงสูบควันลงไปส่วนลึกของปอด โอกาสที่เด็กจะติดบุหรี่จึงมีสูงเมื่อเทียบกับสูบบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้ บุหรี่กานพลูยังมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้า ทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้จากการส่งออกราวปีละ 1 แสนล้านบาท

การทดสอบของประเทศอินโดนีเซียพบว่าบุหรี่กานพลูจะปล่อยนิโคติน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และทาร์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่าบุหรี่ธรรมดา 

บุหรี่กานพลูถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2509 ซึ่งดูแลโดยกรมควบคุมโรค ที่ไม่ได้แจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามมาตรา 11 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบจะต้องมีส่วนประกอบตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงจึงจะขายได้

ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบมีหน้าที่จะต้องแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ฝ่าฝืนมาตรา 11 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังผิด พ.ร.บ.ยาสูบ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมสรรพสามิต หากลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายมีโทษตามมาตรา 46 คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท และผิดมาตรา 50 มีโทษปรับ 15 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่ต้องเปิด

การต่อต้านสิ่งเสพติดเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ปกครอง ต้องร่วมกันระวังบุตรหลานให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติดนี้ เพราะการเสพสิ่งเสพติด ก็เหมือนกับว่าผู้เสพได้ทำร้ายตนเอง หรือ “ฆ่า” ตัวเองทางอ้อม ซึ่งการ “ฆ่า”ตัวเอง ถือว่าผิดหลักการทางศาสนา

“...จงอย่าโยนตัวของเจ้าเอง ไปสู่ความพินาศด้วยมือของเจ้าเอง...” อัลกุรอาน : 2-195


จาก : 
วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 197 เดือน สิงหาคม 2563

ความคิดเห็น