คอลัมน์ : ริมคลอง
กัลยาณา
ยาลูกกลอนเป็นยาที่ผลิตขึ้นโดยการนำสมุนไพรหลายชนิดมาบดผสมกัน และใช้น้ำผึ้งเป็นตัวประสาน แล้วปั้นเป็นก้อนกลม เพื่อสะดวกในการรับประทาน สมุนไพรบางตัวไม่มีสรรพคุณด้านการรักษา แต่มีฤทธิ์ในด้านรสชาติและกลิ่น เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่าย
มากกว่าครึ่งของยาลูกกลอนจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งสังเกตได้จากอาการหลังจากรับประทานแล้วเห็นผลเร็วและอาการปวดเมื่อยก็หายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาการหายเร็วอย่างนี้ให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่ายาลูกกลอนดังกล่าวมีส่วนผสมของสเตียรอยด์แน่นอน ซึ่งผู้ที่ได้รับยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เข้าไปในร่างกายมาก ๆ จะมีพิษสะสมในร่างกายทำให้เกิดอาการข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- ทำให้เกิดภาวะช็อกเนื่องจากความดันโลหิตตกจนอาจทำให้เสียชีวิต
- ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, มีไข้, ปวดตามข้อ, อาเจียน, ปวดท้อง, ปวดกล้ามเนื้อ,กล้ามเนื้ออ่อนแรง, กระดูกพรุน
- ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงทำให้ติดเชื้อง่ายจนอาจทำให้เสียชีวิต
- ทำให้เป็นโรคเบาหวาน, ต้อกระจก
- ทำให้ใบหน้ากลม ลำตัวอ้วน
- ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะทะลุจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
ยาลูกกลอนมักถูกใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อรังและโรคที่ต้องการบำรุงรักษาร่างกายด้วย แต่มีข้อเสียอยู่ที่ยาลูกกลอนต้องใช้น้ำผึ้งเป็นปริมาณมากและจะต้องเป็นน้ำผึ้งแท้อีกด้วย ดังนั้น ราคาต้นทุนจึงสูงกว่าปกติธรรมดาของยาลูกกลอนโดยทั่วไป ยาลูกกลอนจึงจัดเป็นยาแผนโบราณที่ต้องขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า และที่สำคัญต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อนจึงจะนำออกจำหน่ายได้และต้องจำหน่ายในร้านยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อ.ย. ได้กำหนดให้สารสเตียรอยด์จัดเป็น “ยาควบคุมพิเศษ”
ดังนั้น ผู้บริโภคที่นิยมรับประทานยาลูกกลอนอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาและคำบอกเล่าและอ้างถึงบุคคลที่เคยใช้แล้วได้ผล ทั้งยังแนะนำให้ซื้อยาลูกกลอนใช้เอง เพราะอาจได้ยาลูกกลอนที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะสังเกตได้จาก ไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา หากจะซื้อยาลูกกลอนต้องเป็นยาที่มีเลขทะเบียนตำรับยา ฉลากเรียบร้อย ภาชนะบรรจุหีบห่อต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาดหรือเปียกชื้นและควรซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้บริโภคเอง
วิธีสังเกตว่าเป็นยาที่ได้รับทะเบียนยาจาก อ.ย. ถูกต้องหรือเปล่า โดยการสังเกตฉลากที่ปิดผนึกบนภาชนะบรรจุ ว่าจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งถ้าเป็นยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ เลขทะเบียนจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G แต่ถ้าเป็นยาแผนโบราณที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เลขทะเบียนจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร K ต่อมาจะเป็นเลขแสดงลำดับการอนุญาตและปี พ.ศ. ที่อนุญาต เช่น
G20/42 หมายถึง ยาตำรับนี้เป็นยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนลำดับที่ 20 ในปี พ.ศ.2542 เป็นต้น
การใช้สเตียรอยด์อย่างถูกวิธี ถูกโรค จะนำมาซึ่งประโยชน์ แต่ถ้านำสเตียรอยด์ไปใช้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในพิษภัยของสเตียรอยด์อย่างถ่องแท้แล้ว ก็เท่ากับว่าคุณได้เปิดประตูต้อนรับอภิมหาภัยร้ายเข้าสู่ร่างกายด้วยตัวคุณเอง
2. www.grocer.exteen.com
3. www.ryt9.com
4. www.thaihow.tripod.com
5. www.fda.moph.go.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น