โดย รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี
อิสลามกับการสูบบุหรี่
บุหรี่เป็นยาสูบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกสังคมไม่เว้นในสังคมมุสลิม ทั้งนี้เพราะความไม่ชัดเจนในบทบัญญัติเกี่ยวกับบุหรี่ จึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาจุดยืนของอิสลามเกี่ยวกับบุหรี่โดยใช้หลักฐานต่างๆ ของการกำหนดบทบัญญัติในอิสลาม
บุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์ของยาสูบซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ภายหลังจากการค้นพบไม่นานก็ได้มีการนำบุหรี่ไปยังประเทศสเปนและไปยังประเทศอังกฤษตามลำดับ ในที่สุดก็ถูกนำไปสู่โลกอาหรับในราวปี ค.ศ. 1590 ในช่วงแรกๆ ที่บุหรี่เริ่มแพร่หลายในโลกอิสลาม บรรดานักกฎหมายก็ได้พิจารณาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมมุสลิมว่ามีสถานะอย่างไรในบทบัญญัติอิสลาม เมื่อพวกเขาเห็นว่ามันเป็นไฟและควันที่ถูกสูบไปโดยมนุษย์ พวกเขาก็ตกตะลึงทั้งรู้สึกรังเกียจกลิ่นของบุหรี่ ขณะเดียวกันก็ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ว่า มันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความมึนเมาและหลอกหลอนทั้งทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย บรรดานักกฎหมายสมัยนั้นก็ดำเนินการกำหนดบทบัญญัติของบุหรี่ว่า เป็นสิ่งต้องห้ามทั้งได้กำหนดบทลงโทษหรือค่าปรับที่แตกต่างกัน ทั้งที่มีผู้กำหนดบทลงโทษเช่นเดียวกับการดื่มสุราซึ่งเป็นทัศนะของนักกฎหมายอิสลามแห่งนัจด์บนคาบสมุทรอาระเบีย จนถึงการประหารชีวิตซึ่งเป็นบทลงโทษในสมัยสุลต่านมุรอดแห่งราชวงศ์ออตโตมัน ทั้งนี้เป็นไปตามทัศนะของนักกฎหมายอิสลามที่เห็นว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม
แต่ในเมื่อระยะเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้เริ่มมีการอ้างว่าบุหรี่นั้นมีประโยชน์ในการรักษาโรคหลายโรคด้วยกัน จากนั้นมีกลุ่มนายแพทย์จากประเทศตะวันตกมีความเห็นว่าบุหรี่นั้นมีประโยชน์ต่อผู้สูบ ผลดังกล่าวได้ลามไปยังโลกมุสลิมโดยเห็นว่าบุหรี่นั้นมีประโยชน์ในการรักษาโรคปวดหัว นอนไม่หลับ ความเครียด โรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคระบบหายใจ และโรคเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น
ข้อมูลดังกล่าวมีอิทธิพลต่อทัศนะของบรรดานักกฎหมายอิสลามสมัยนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บรรดานักกฎหมายเหล่านั้นได้ทบทวนจุดยืนของอิสลามที่มีต่อบุหรี่ แม้จะมีบางท่านที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวก็ตาม ในที่สุดก็ได้เปลี่ยนบทบัญญัติเกี่ยวกับบุหรี่ในลักษณะที่ลดจากหนักเป็นเบา จากผลของข้อมูลที่ว่านั้น นักกฎหมายอิสลามสมัยนั้นได้กำหนดบทบัญญัติการสูบบุหรี่เป็น 5 ระดับ คือ (1) เป็นสิ่งต้องห้ามหากบุหรี่นั้นเป็นอันตราย (2) เป็นสิ่งที่ไม่ควรหากเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น (3) เป็นสิ่งอนุมัติหากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นอันตราย (4) เป็นสิ่งที่ควรสูบหากคาดว่าจะเป็นประโยชน์และ (5) เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ (สูบ) หากเป็นทางเดียวในการรักษาโดยมีหลักฐานที่เชื่อถือได้
กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป งานวิจัยมากมายที่น่าเชื่อถือได้เผยแพร่สู่สาธารณะได้กล่าวถึงพิษภัยและโทษอันมหันต์ของบุหรี่ องค์การอนามัยโลกได้ระบุในรายงาน ปี ค.ศ.1975 ว่า “ผู้ที่เสียชีวิตหรือใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นจากการสูบบุหรี่ มีจำนวนมากกว่าการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคระบาดอย่างร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ โรคเรื้อน วัณโรค ไทฟอยด์ ไข้รากสาดรวมกัน” รายงานดังกล่าวยังได้ระบุอีกด้วยว่า “การหยุดสูบบุหรี่จะนำไปสู่การยกระดับสุขภาพและทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น โดยที่เครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหมดไม่สามารถที่จะทำได้”
จากข้อมูลใหม่ดังกล่าว ความเห็นของนักกฎหมายอิสลามก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ นักกฎหมายอิสลามส่วนหนึ่งเริ่มกำหนดบทบัญญัติที่สอดคล้องข้อเท็จจริงอันเป็นผลของการสูบบุหรี่ กล่าวคือ ในเมื่อการสูบบุหรี่นั้นจะนำมาซึ่งโรคร้ายหลายประการและแทบไม่เห็นมีประโยชน์เลย การสูบบุหรี่ตามหลักการของอิสลามก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยไม่มีข้อแม้หรือข้อสงสัย กระนั้นก็ตามยังมีนักกฎหมายอิสลามส่วนหนึ่งที่ยังไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าว โดยเห็นว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นสิ่งไม่ควรกระทำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามเป็นความเห็นที่เริ่มแผ่ขยายและเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วในแวดวงนักกฎหมายอิสลาม เพราะมีเหตุผลสนับสนุนอย่างชัดเจน
เหตุผลในการห้ามสูบบุหรี่
ภายหลังมีการเผยแพร่งานวิจัยที่บ่งบอกถึงพิษภัยของบุหรี่ ทัศนะของนักกฎหมายอิสลามเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางโดยเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของอิสลาม โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้
ก- การสูบบุหรี่มีผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพและนำไปสู่การเสียชีวิตหรือโรคเรื้อรัง บรรดาแพทย์เห็นคล้องต้องกันว่าบุหรี่นั้นเป็นภัยต่อร่างกายและชีวิต เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปตามหลักการอิสลามที่ถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นพิษเป็นภัยนั้นถือว่าหะรอม(ต้องห้าม) อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
“และพวกเจ้าจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นมีความปรานีต่อพวกเจ้าเสมอ” (อันนิสาอฺ: 29)
บรรดาเศาะฮาบะหฺ (สหายท่านศาสดา) เข้าใจว่าอายะฮฺ (โองการ) ดังกล่าวนั้นเป็นการห้ามมิให้มุสลิมนำตัวเองไปสู่ความหายนะ
ข- การสูบบุหรี่เป็นการทำลายและเป็นการสูญเสียทรัพย์สิน วัตถุประสงค์ของทรัพย์สินคือเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการของอิสลาม การนำเอาทรัพย์สินไปซื้อบุหรี่ที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยก็ไม่แตกต่างอะไรเลยจากการทำลายทรัพย์สิน เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาทรัพย์สินนั้น เป็นหนึ่งในห้าเป้าประสงค์หลักของกฎหมายอิสลาม ท่านนบี (ศอลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงห้ามพวกเจ้า อกตัญญูต่อมารดา การฝังลูกสาว การปฏิเสธ ให้ตามหน้าที่ และการรับที่ไม่ชอบ และได้ทรงเกลียดพวกเจ้าในการซุบซิบ การถามมาก และการทำให้สูญเสียทรัพย์สิน” (รายงานโดย บุคอรีย์และมุสลิม)
ปราชญ์บางท่านได้อธิบายความหมายของการให้สูญเสียทรัพย์สินว่า เป็นการใช้จ่ายเกินจำเป็น บางท่านอธิบายว่า เป็นการใช้จ่ายในทางต้องห้าม การอธิบายที่น่าจะถูกต้องที่สุดคือใช้จ่ายในทางไม่ชอบด้วยหลักการของอิสลาม
นอกจากนั้นอิสลามได้กำหนดมาตรการหลายประการในการปกป้องทรัพย์สินของบุคคล ส่วนหนึ่งคือการห้ามใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย
ค- บุหรี่ถือได้ว่าเป็นสิ่งเลวทรามอย่างหนึ่ง (من الخبائث) อันเป็นสิ่งที่ท่านนบี (ศอลฯ) จะต้องห้ามปราม อัลลอฮฺตรัสว่า
“เขา (มุฮัมมัด) จะทำการสั่งเสียพวกเขาด้วยสิ่งที่ชอบธรรมและจะห้ามปรามจากสิ่งชั่วร้าย และจะอนุมัติแก่พวกเขาสิ่งดีงามทั้งหลายและห้ามพวกเขาสิ่งเลวทรามทั้งหลาย” (อัลอะอฺรอฟ: 157)
ความเลวทรามของบุหรี่นั้น ปรากฏชัดนอกเหนือจากรสชาติและกลิ่นของมันแล้ว บุหรี่ยังเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งโรคร้ายแรงแก่ผู้สูบอีกด้วย
จ- การสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นเสมือนของกินหรือเครื่องดื่มที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามปรกติ ทั้งไม่ได้เป็นยารักษาโรค ดังนั้นจึงถือว่าการสูบบุหรี่เป็นการกระทำที่ไร้สาระ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการอิสลาม
ข้อสรุป
ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงของนักกฎหมายอิสลามที่มีต่อบุหรี่ตั้งแต่ประเทศมุสลิมเริ่มรู้จักบุหรี่นั้น เกิดจากข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผลของการสูบบุหรี่ ณ วันนี้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ในทุก ๆ ด้านน่าจะเป็นข้อสรุปที่ไม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ในเมื่อเป็นเช่นนี้ บทบัญญัติของอิสลามเกี่ยวกับบุหรี่ก็ควรจะได้ข้อยุติเช่นเดียวกัน แม้ว่าไม่มีตัวบทจากอัลกุรอานหรือหะดีษเช่นเดียวกับสุราก็ตาม อัลกุรอานได้กล่าวถึงสาเหตุการห้ามดื่มสุราในรูปของคำถามตอบดังนี้
“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับสุราและการพนัน เจ้าจงตอบเถิดว่า ในทั้งสองมีบาปมหันต์และมีประโยชน์มากมายแก่มนุษย์ แต่บาปของทั้งสองมันใหญ่กว่าประโยชน์ของทั้งสอง”(อัลบะกอเราะฮฺ: 219 )
จะเห็นได้ว่าสุรานั้นอาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่เพราะโทษของมันมากกว่า อิสลามจึงห้ามดื่มอย่างเด็ดขาด สำหรับบุหรี่นั้นหาประโยชน์จากมันไม่ได้เลย มีแต่โทษ จึงควรห้ามยิ่งกว่าสุราเสียอีก
นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ยังเป็นการขัดกับเป้าประสงค์หลักของกฎหมายสองในห้าประการ ซึ่งประกอบด้วย(1) การปกป้องศาสนา (2) การปกป้องชีวิต (3) การปกป้องทรัพย์สิน (4) การปกป้องสายตระกูล และ (5) การปกป้องสติปัญญา บุหรี่นั้นจะทำลายเป้าหมายข้อที่ (2) และ (3) การสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลามด้วยเหตุผลที่กล่าวมา
จากสุขสาระ ฉบับที่ 198 เดือนกันยายน 2563
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น