ท่องโรค –โรคกระเพาะอาหาร
“โรคกระเพาะอาหาร” เป็นโรคสำคัญและพบได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอาจการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา มีความเครียด หรือรับประทานยาที่กัดกระเพาะ ซึ่งอาการอาจมีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องหยุดงานหรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่พบมากในปัจจุบัน คือ การใช้ชีวิต ความเครียด ความกังวล ที่พบได้บ่อยในสังคมการทำงาน รวมถึงวิถีชีวิตในด้านการรับประทานอาหารที่ไม่ดีและการละเลยสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การอดอาหาร การรับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Aspirin ยาลดการอักเสบเป็นประจำ และอีกหนึ่งสาเหตุของโรคที่สำคัญ คือ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เอชไพโลไร (Helicobacter pylori หรือย่อว่า H.pylori) มีการถ่ายทอดจากคนสู่คน จากการรับประทานอาหาร เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและเลื่อนเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิว ซึ่งเชื้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารเป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อย ที่สำคัญได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคแผลในกระเพาะอาหาร อาการสำคัญ
-ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ หน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่า หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
-อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด
-อาการปวด มักจะเป็นๆหายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
-ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
-แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม
-โรคแผลในกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง
ภาวะแทรกซ้อน
- เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม
- กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
- กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว มีอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
หลักการปฏิบัติตัว
ข้อควรจำ โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้ว จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ได้แก่
- กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
- กินอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา
- งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
- ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
- ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารเพียงส่วน หรือบางบริเวณเท่านั้น แบ่งเป็น
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่เป็นในระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ก็หาย อาการสำคัญ คือ จะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหาร หรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่รุนแรง จะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สาเหตุที่พบบ่อย คือ จากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากแน่นท้องเป็น ๆ หาย ๆ เท่านั้น หลักการปฏิบัติตัวเหมือนผู้ป่วยแผลกระเพาะอาหาร
ที่มา
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=359
https://www.phyathai.com/article_detail.php?id=1697
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น