อาหารกับสุขภาพ -มะเขือเทศ
มะเขือเทศ (Tomato) พืชชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร อยู่ในวงศ์เดียวกับ พริกขี้หนู พริกยักษ์ มะเขือ มันฝรั่ง และยาสูบ
![]() |
มะเขือเทศ |
เดิมมะเขือเทศพบในทวีปอเมริกาใต้ แล้วต่อไปยังยุโรป จนเมื่อราว ๆ 400 ปีที่ผ่านมาจึงเข้ามาทางจีน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นที่นิยมปลูกกันทั่วโลกในปัจจุบัน
มะเขือเทศเป็นพืชล้มลุกอายุเพียง 1 ปี ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะเป็นพุ่ม มีขนอ่อน ๆ ปกคลุม ใบเป็นใบประกอบ ออกสลับกัน ใบย่อยมีขนาดไม่เท่ากัน บางใบเล็กรียาว บางใบกลมใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักลึกคล้ายฟันเลื่อยมีขนอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยว บริเวณซอกใบ ดอกมีสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีเขียวประมาณ 5-6 กลีบ ผลเป็นผลเดี่ยว มีขนาดรูปร่างและสีต่างกัน ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 3 เซนติเมตร จนถึงใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร รูปร่างมีทั้งกลม กลมแบน หรือกลมรี ผิวนอกกลีบเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว หรือเขียวอมเทา เมื่อสุกจะมีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง เนื้อภายในฉ่ำด้วยน้ำมีรสเปรี้ยว มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์สีดา พันธุ์โรมาเรดเพียร์ เป็นต้น
ชื่ออื่น : มะเขือเทศ (ทั่วไป) บะเขือส้ม (ภาคเหนือ/ภาคอีสาน) เขือส้ม/เขือเทศ(ภาคใต้)
มะเขือเทศ เป็นผลไม้นานาประโยชน์ที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นสุดยอดสารอาหารของผิวที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านความงาม มีวิตามินซี และวิตามินเอ สูง 1 ผลขนาดปานกลาง มีปริมาณวิตามินซีเท่ากับครึ่งหนึ่งของส้มโอทั้งผล และหนึ่งผลของมะเขือเทศจะมีวิตามินเอราว 1 ใน 3 ของวิตามินเอ ที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน
![]() |
น้ำมะเขือเทศ |
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติต้านโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย สำหรับสารสำคัญที่พบมากในมะเขือเทศมากจะเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) แอลฟา-แคโรทีน (Alpha-Carotene) เบตา-แคโรทีน (Beta-Carotene) และลูทีน (Lutein) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรค
สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ใบ ใช้รักษาหน้าเกรียมเนื่องจากถูกแดดเผา ผล ใช้เป็นยาระบาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยย่อยอาหาร และใช้ฟอกเลือด น้ำมะเขือเทศที่คั้นใหม่ๆ สามารถใช้ทำความสะอาดผิว ทำให้ผิวนุ่มเนียน จึงนิยมนำมะเขือเทศมาพอกหน้า และปัจจุบันก็มีการใช้น้ำมะเขือเทศเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วย ในมะเขือเทศมีกรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามิน A, B, C และสารสำคัญในกลุ่มแคโรทีนอยด์อย่างไลโคพีน (lycopene) ที่ทำให้มะเขือเทศมีความโดดเด่นเหนือพืชผักอื่น ๆ
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาระบุว่า มะเขือเทศและสาระสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะสารไลโคปีน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านการอักเสบ ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งต่อมลูกหมาก
การศึกษาทางคลินิกจำนวนมากพบว่า การบริโภคมะเขือเทศสด ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ สารสกัดมะเขือเทศ และสารไลโคปีน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อีกทั้งยังช่วยลดขนาดและยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งดังกล่าวด้วย นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และในขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของการบริโภคมะเขือเทศในรูปแบบของอาหารเลย
หลายๆ คนอาจคิดว่าการรับประทานผักสดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้สาระสำคัญในพืชผักเยอะ ๆ แต่ในกรณีของสารไลโคปีน ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารไลโคปีนในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะเขือเทศ (ที่น้ำหนักเท่ากัน) เช่น ซอสมะเขือเทศ (Tomato ketchup) น้ำมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) ซุปมะเขือเทศเข้มข้น มะเขือเทศปรุงสุก มะเขือเทศผง และมะเขือเทศสด ทำให้สามารถเรียงลำดับปริมาณของไลโคปีนจากน้อยไปมากได้ดังนี้
มะเขือเทศสด < มะเขือเทศปรุงสุก < ซุปมะเขือเทศเข้มข้น < น้ำมะเขือเทศ < ซอสมะเขือเทศ < มะเขือเทศผง < ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น
จะเห็นได้ว่ามะเขือเทศที่ผ่านกระบวนการและความร้อน จะมีปริมาณของสารไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศสด แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคมะเขือเทศสดก็จะทำให้ได้วิตามินและสารอื่น ๆ ที่สลายไปในระหว่างกระบวนการผลิตแทน ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกรับประทานมะเขือเทศในรูปแบบใด ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น
ข้อมูล
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/275
https://th.wikipedia.org/wiki
http://www.thaichef.in.th/mobile/article_herbdetail.php?aid=15
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น