สังคม
วันนี้เราได้ยินคำว่า “บูลลี่” กันบ่อยครั้ง เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนยังไม่เข้าใจความหมาย
บูลลี่ คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย ในสังคมเราจะเห็นว่ามีการบูลลี่กันหลายเรื่อง เช่น รูปร่างหน้าตา สีผิว รสนิยม เชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยม อายุ ทัศนคติหรือสถานะทางสังคม
ปัจจุบันทางกรมสุขภาพจิตได้แบ่งประเภทของการบูลลี่ออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ
- ทางร่างกาย เช่น การชกต่อย การตบตี จนทำให้เกิดความเสียหายและเจ็บปวดต่อร่างกาย
- ทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เช่น การกดดัน การยั่วยุ การแบ่งแยกให้ออกจากลุ่มจนทำให้รู้สึกเจ็บปวดและเสียใจ
- ทางวาจา เช่น การพูดจาเหยียดหยาม การดูหมิ่น การด่าทอ การดูถูก การนินทา การโกหกจนทำให้รู้สึกเจ็บปวด
- ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) เป็นการกลั่นแกล้งกันผ่านโลกออนไลน์และเป็นการกระทำที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน เช่น การโพสข้อความโจมตีบนสื่อเฟซบุ๊ก การหลอกลวง การส่งข้อความคุกคามทางเพศ ใช้ถ้อยคำหยาบคายจนทำให้อีกฝ่ายอับอายและรู้สึกเจ็บปวด
ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน สมัยที่ยังเป็นเด็ก 50 กว่าปีมาแล้ว คุณผู้อ่านคงถูกล้อเลียนด้วยถ้อยคำต่าง ๆ นา ๆ เช่น ไอ้ดำ..ไอ้แขก..ไอ้อ้วน..ไอ้เจ๊ก เหล่านี้เป็นต้น ในอดีตเรากระทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความเคยชิน แม้ว่าการดูหมิ่นหรือบุลลี่จะรุนแรงแค่ไหน เราก็ทำมันเพราะสนุก และเคยชินกับมัน แต่สมัยนั้นก็ผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาได้ เพราะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือเลือกที่จะคบเพื่อนที่ไม่ดูหมิ่นกันและกัน
เราไม่ควรปล่อยปละละเลยเรื่องนี้เป็นอันขาด ไม่ว่าลูกของเราจะเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นผู้กระทำก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบร้ายแรงได้ทั้งสิ้น โดยเด็กที่เป็นฝ่ายกระทำจะเสี่ยงมีส่วนพัวพันหรือก่ออาชญากรรม ความรุนแรง การทำลายข้าวของ และการใช้สารเสพติด ทั้งยังอาจเกิดความล้มเหลวทางการศึกษาหรือเรียนไม่จบ จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้
ส่วนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางการเรียน หรืออาจรู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัวออกจากสังคม มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม บางรายอาจตอบสนองด้วยการใช้ความรุนแรง บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย และบางรายก็ฝังใจกับการ Bully จนได้รับผลกระทบไปตลอดชีวิต
ประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การได้มีโอกาสพูดคุยกัน และหาโอกาสปรับความเข้าใจกันและกัน และผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก บอกกล่าวให้เข้าใจว่าการดูหมิ่น หรือ บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องดีงามที่ควรกระทำ และไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม พร้อมให้โอกาสในการแก้ตัว
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น