GMO
จีเอ็มโอนิยมทำในพืชมากกว่าสัตว์ เพราะพืชอายุสั้นกว่าสัตว์จึงทำได้ง่ายกว่า ทำให้สามารถศึกษาพืช จีเอ็มโอ ได้หลายๆ ชั่วอายุของพืช นอกจากถั่วเหลืองจีเอ็มโอ แล้วยังมี ข้าวโพด, มันฝรั่ง, มะละกอ และฝ้าย ส่วนสัตว์จีเอ็มโอก็มีปลาแซลมอนเลี้ยง
แม้ว่าพืช จีเอ็มโอ จะมีคุณสมบัติที่ดี ๆ ในการต้านทานโรคพืช หรือทนต่อยาปราบวัชพืช อายุและความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และแม้จะมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น แต่ข้อเสีย ก็คือการบริโภคอาหารจีเอ็มโออาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ คือ โรคภูมิแพ้ เช่นที่เกิดขึ้นในอเมริกา คนที่แพ้บราซิลนัท ไปกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ที่มียีนของบราซิลนัทอยู่โดยไม่รู้ตัว จะเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองนั้นทันที นอกจากนี้ การใส่ยีนแปลกปลอม ที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้าไป อาจก่อให้เกิดโปรตีนพิษชนิดใหม่ ที่ร่างกายไม่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ และนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นห่วงว่าจีเอ็มโออาจกระตุ้นให้ร่างกายดื้อยาปฏิชีวนะ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการผลิตสิ่งของเกี่ยวกับจีเอ็มโอมากที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบันนี้สหรัฐอเมริกาก็กำลังตื่นตัวและมีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ จีเอ็มโอมากขึ้น
ขณะที่แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเพาะปลูกและมีผลิตภัณฑ์จีเอ็มโออย่างกว้างขวางและมีการใช้ฉลากในการบอกถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ เพื่อการค้า และ มีมติ ครม. สั่งระงับการทดลองปลูกพืช จีเอ็มโอระดับไร่นา แต่ประเทศไทยก็นำเข้าวัตถุดิบจีเอ็มโอจำนวนมากเพื่อใช้ผลิตอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งนำเข้ามาจากสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองจีเอ็มโอรายใหญ่ที่สุดของโลก โดย 99% ของถั่วเหลืองที่ปลูกในอาร์เจนตินา เป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ และ 80% ของถั่วเหลืองที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นจีเอ็มโอ
พืชจีเอ็มโอ อาจจะมาช่วยโลกในยามที่อาหารขาดแคลน หรือแพงได้ แต่ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้บริโภคจึงควรหาซื้อพืชที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรอินทรีย์ โดยสังเกตตรารับรอง จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(มกท.)ซึ่งรับรองได้ว่าปลอดทั้งสารเคมี และจีเอ็มโอ
จากสุขสาระ ฉบับที่ 199 เดือนตุลาคม 2563
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น