“นมแม่”
โดย : นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า
ศาสนาอิสลาม ได้ให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดูทารกเป็นอย่างยิ่ง โดยกระตุ้นให้มารดาทั้งหลายมีความภาคภูมิใจในความเป็นมารดาของทารก ที่ได้เหนื่อยยากอุ้มท้องทารกมาเป็นเวลานานถึงเก้าเดือนสิบวัน หลังจากนั้น ยังต้องเลี้ยงดูต่ออีกด้วยการให้นมแก่ทารกนั้นด้วยตัวเอง ถ้าให้ได้ หรือให้ใช้แม่นม ถ้าหากตัวเองไม่มีความสามารถพอ โดยนับเวลาตั้งแต่ ตั้งครรภ์จนถึงหย่านมเป็นเวลานาน สามสิบเดือนคือสองปีกับหกเดือน ดังนั้น ระยะให้นมในศาสนาอิสลาม จึงควรมีอย่างน้อย ยี่สิบเอ็ดเดือน หรือนานกว่าหนึ่งปีครึ่ง แต่ถ้าหากผู้ใดต้องการจะให้นมจบครบเต็มตามจำนวนที่ควรเป็นก็คือระยะเวลานานสองปี ดังในอายะฮ์อัลกุรอานที่ว่า
“และเราได้สั่งเสีย แก่มนุษย์ ให้ทำความดีแก่มารดาของพวกเขา ที่ได้อุ้มท้องพวกเขามาด้วยความเหนื่อยยาก และคลอดเขามาด้วยความเจ็บปวด ระยะเวลาตั้งแต่อุ้มครรภ์เขา จนหย่านมเขานานสามสิบเดือน” ซูเราะฮ์ อัลอะห์กอฟ อายะฮ์ที่ 15
“และบรรดามารดาทั้งหลายที่ได้ให้นมบุตรของนางเป็นเวลาถึงสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการให้นมอย่างครบถ้วน” ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะห์ อายะฮ์ที่ 233
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงนมแม่ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารกด้วย เพราะถือเป็นปัจจัยยังชีพที่สำคัญสำหรับทารก ตั้งแต่แรกเกิดไปจนกระทั่งอายุขวบครึ่ง ถึงสองขวบ ดังอัลฮะดีษที่ว่า
จากท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ดีสำหรับเด็กทารกเท่ากับนมแม่ของเขาเอง”
ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า “และพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮาฯ ได้ทรงให้ริสกี (ปัจจัยยังชีพ) แก่ทารกเหล่านั้น โดยผ่านทางนมแม่ของเขา ข้างหนึ่ง จะเป็นเครื่องดื่ม และอีกข้างหนึ่งจะเป็นอาหาร”
และเมื่อเราได้มาพิจารณาถึงความเหมาะสมแล้วจะพบว่า นมแม่เป็นอาหารที่ประเสริฐที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากนมแม่มี โปรตีนจำนวนเหมาะสมสำหรับพอให้ทารกเจริญเติบโตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้มข้นจนเกินไปจนเป็นอันตรายต่อตับและไตของทารก ที่ยังไม่แข็งแรง นมมารดา ไม่มีการบูดเน่าหรือเสีย และสามารถให้ได้ในทุก ๆ เวลาทุก ๆ สถานที่ มีภูมิต้านทานอยู่ในนม เพื่อช่วยป้องกันโรคให้กับทารกได้ในขณะที่ทารกนั้นยังอ่อนแออยู่
แต่ถ้าหากเมื่อใดก็ตามที่มารดาไม่สามารถให้นมแก่บุตรได้ ก็จะต้องหาแม่นมเพื่อให้นมแทน จะไม่พยายามใช้นมของสัตว์มาเลี้ยงคน เนื่องจากนมสัตว์ เช่นนมวัวนั้น มีโปรตีนและไขมันมากเกินกว่าความจำเป็นของเด็ก ดังนั้นส่วนที่เกินเหล่านี้ จะต้องถูกขจัดออกโดยทางตับและไต การดื่มนมเหล่านี้มาก ๆ ในขณะที่ตับและไตยังอ่อนแอ จึงอาจจะเป็นอันตรายต่อตับและไตของทารกได้ ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่ทำให้ทารกสามารถดำรงชีพอยู่ได้จนโต ก็คือนมมารดา หรือนมคนนั่นเอง
ในการให้ดื่มนมมารดานั้นยังมีเคล็ดลับอีกอันหนึ่งก็คือ การให้ดื่มนมจากทั้งสองเต้าสลับกันไป โดยถือว่าข้างหนึ่งเป็นอาหารและอีกข้างหนึ่งเป็นเครื่องดื่ม ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้ทารกอิ่มมากขึ้นแล้วยังจะช่วยไม่ให้แม่เกิดอาการเต้านมคัด หรือนมคั่งด้านในด้านหนึ่งด้วย เต้านมคัด หรือนมคั่ง ถ้าเกิดบ่อย ๆ อาจจะมีการอักเสบร่วมด้วย และในที่สุดต้องกลายเป็นหนองที่เต้านมและต้องมาผ่าตัดออกทำแผลเป็นเวลานานกว่าจะหาย ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอันมาก การให้ทารกดื่มเต้านมทั้งสองข้างในคราวเดียวกัน จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและได้ผลดีที่สุด
นอกจากนั้น อิสลาม ยังให้ความสำคัญแก่ผู้ที่จะให้นมบุตรด้วยว่า ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคร้ายใด ๆ ดังในฮะดีษที่ว่า
ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้กล่าวไว้ว่า “ห้ามผู้ที่เป็นโรคปัญญาอ่อน และผู้ที่เป็นโรคตามัว เป็นแม่นมให้แก่เด็ก เพราะนมเหล่านี้ จะก่อให้เกิดโทษ”
การให้นมโดยแม่ที่ปัญญาอ่อนนั้น อาจจะให้โทษแก่ทารกจนถึงตายได้ เช่นนมอุดจมูกหายใจไม่ออก หรือโรคบางอย่าง อาจจะสามารถติดต่อไปยังทารกได้ จึงควรหาแม่นมที่แข็งแรงเป็นผู้ที่ให้นมแก่ทารกจะดีที่สุด
นอกจากนี้ ศาสนาอิสลามยังใส่ใจในอาหารการกินของ ผู้ให้นมด้วยว่า จะมีส่วนไปถึงทารก การรับประทานอาหารต่างๆ จึงต้องเลือกอาหารที่ดี ถูกต้องตามหลักการศาสนา เนื่องจากจะเป็นอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อทารกที่ตนให้นมอยู่ด้วย เช่นเดียวกัน อิสลามยังถือว่าสภาพทางจิตใจของผู้ที่ให้นม ก็มีความสำคัญและสามารถติดต่อไปยังทารกได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ที่ผิดประเวณี หรือผู้ที่บูชาไฟ ซึ่งถือได้ว่าไม่มีความศรัทธาอยู่ในจิตใจ จึงไม่สมควรเป็นผู้ในนมแก่ทารก เพราะทารก จะได้รับสิ่งเหล่านี้ไปทางน้ำนมได้ ดังฮะดีษที่ว่า
จากท่านอบูอับดุลลอฮฺ อะลัยฮิสลามได้กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีชายคนหนึ่งได้ถามท่านศาสดาเกี่ยวกับ การให้คนที่เป็นยะฮูดี (ชาวยิว) หรือนัสรอนี(ชาวคริสต์) หรือพวกบูชาไฟ มาเป็นแม่นมให้กับลูกชายของเขาว่า เขาสมสมควรจะให้นมในบ้านของนางเอง(แม่นม) หรือมาให้นมในบ้านของเขา ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้กล่าวตอบว่า
“ท่านจงให้หญิงยะฮูดีหรือนัสรอนีนั้น มาให้นมที่บ้านของท่าน และในระหว่างนั้น จงห้ามนางไม่ให้ดื่มสุรา และไม่ให้รับประทานของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม เช่นหมูเป็นต้น และห้ามนำเด็กนั้น ไปยังบ้านของนาง และห้ามหญิงที่ทำผิดประเวณีมาเป็นแม่นมให้กับลูกของท่าน แท้จริง ไม่เป็นที่อนุญาตแก่ท่าน ที่จะนำหญิงบูชาไฟ มาเป็นแม่นมให้กับลูกของท่าน นอกจากเป็นสิ่งที่จำเป็นจนหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น"
ปัจจุบัน หลาย ๆ ฝ่ายในโลกตั้งแต่ สหประชาชาติ องค์การยูเนสโก ฯลฯ หันมาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น มีการกระตุ้นในผู้ยากจนทั้งหลายเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนถึงสองขวบ เพราะพบว่า นมแม่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี สะอาดถูกหลักอนามัย และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดที่ทารกควรได้รับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อิสลามได้สอนมาและนำมาปฏิบัติโดยตลอดเป็นเวลานานกว่า พันสี่ร้อยปีแล้ว ทั้งนี้มิใช่อะไรนอกจากผู้ที่แนะนำแนวทางดังกล่าว คือผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับมนุษย์มากที่สุด คือพระองค์ผู้ทรงสร้างมนุษย์ พระองค์ผู้เป็นผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทุกอย่าง คือ พระองค์อัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงสูงส่งยิ่งนั่นเอง
จากสุขสาระ ฉบับที่ 200 เดือนพฤศจิกายน 2563
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น