พิษภัยก้นบุหรี่ต่อทะเลไทย
ก้นกรองบุหรี่ ปริมาณขยะที่พบมากที่สุด ก้นกรองบุหรี่ เป็นขยะที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีก้นกรองบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านชิ้น ถูกผลิตและใช้ในแต่ละปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นขยะในสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดมลพิษมากกว่า 500,000 ตัน/ปี
ข้อมูลจาก 91 ประเทศที่มีชายหาด ในปี 2546 พบว่า ขยะที่เกิดจากบุหรี่ ประกอบด้วย ซอง และก้นบุหรี่ มีปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมดที่พบ เฉพาะประเทศไทย ในแต่ละวันมีก้นบุหรี่เกิดขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น และไปตกค้างในสถานที่ต่างๆ
ขยะจากบุหรี่ ประกอบด้วยสารท็อกซิน (Toxin) นิโคติน (Nicotine) ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำได้ ผลการศึกษาระบุสารเคมีในบุหรี่ เช่น สารหนู เหล็กนิโคติน และเอทิลฟีนอล (Ethyl phenol) สามารถทำให้เกลือและน้ำสะอาดมีพิษ มีผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์และปลา เป็นต้น และที่สำคัญไม่ใช่แค่เพียงส่วนประกอบของบุหรี่เท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมไปถึงวัสดุที่ใช้ผลิตด้วย เช่น พลาสติกในก้นกรองบุหรี่เป็นวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย โดยมีองค์ประกอบหลักเป็น polymer cellulose acetate ที่สังเคราะห์ขึ้น ใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน คือ > 2-12 ปี จึงมีโอกาสก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และด้วยเหตุที่ขยะประเภทนี้มีขนาดเล็กจึงมักถูกละเลย และพบได้แทบทุกบริเวณที่มีกิจกรรมของมนุษย์ อีกทั้งยังง่ายต่อการถูกชะพาลงสู่แหล่งน้ำและทะเล ดังนั้น จึงเป็นขยะที่พบได้บ่อยที่สุดบริเวณชายหาด
ผลกระทบและแนวทางแก้ไข
ผลกระทบของขยะประเภทก้นกรองบุหรี่ - ก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง คือเป็นขยะที่อุดตันทางระบายน้ำก่อปัญหาน้ำท่วมขัง หรือถูกน้ำพัดพาลงคูคลองจนลงสู่ทะเลและสะสมอยู่ใต้พื้นทรายตามชายหาด ก่อให้เกิดผลต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ โดยเมื่อสัมผัสกับน้ำจะปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น แคดเมี่ยม ตะกั่ว สารหนู และอนุพันธุ์ของยาฆ่าแมลงออกมา ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น จุลินทรีย์ แมลง และอาจสะสมและถ่ายทอดตามห่วงโซ่อาหาร ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ปลา เต่า นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกินขยะประเภทนี้ โดยมักเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร จนทำให้สัตว์ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และตายในที่สุด
แนวทางการลดปัญหา - ปัจจุบันหลายประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาของขยะประเภทก้นบุหรี่ และรณรงค์ที่จะลดขยะโดยวิธีต่างๆ เช่น พิมพ์คำเตือนไว้ที่ข้างซอง และจัดหาที่ทิ้งก้นบุหรี่ไว้ตามที่สาธารณะ รวมทั้งมีความพยายามทดแทนก้นกรองบุหรี่ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ตลอดจนการนำก้นกรองบุหรี่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่นำกลับ มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผลิตเป็นกระดาษ (ประเทศบราซิล) หรือตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวด (เกาหลีใต้) เป็นต้นข้อมูล - https://www.dmcr.go.th/miniprojects/57/22819
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น