“บารากู่” หรือ ‘ชิชา’ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วแพร่หลายไปยังเปอร์เซียโบราณ ซึ่งมีประวัติยาวนานมานานหลายศตวรรษ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 บารากู่เริ่มแพร่กระจายในหมู่ผู้หญิงในตะวันออกกลางอย่างไรก็ตาม กลับแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ
เดิมยาสูบที่รมควันในบารากู่ไม่มีสารปรุงแต่งใด ๆ ต่อมามีการนำ "Ma'ssell" ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาสูบกากน้ำตาลและมักเป็นสารสกัดจากผลไม้ต่าง ๆ เช่น แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ เชอรี่ องุ่น มะม่วง กาแฟ วานิลลา มะนาว กุหลาบ รวมทั้งสมุนไพรเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม
กลิ่นของบารากู่สร้างบรรยากาศทางสังคมกับเพื่อนและครอบครัว ทำให้การเข้าถึงได้ง่าย เป็นปัจจัยบางประการที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างมาก ซึ่งการสูบบารากู่นั้น เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวอาหรับที่ไม่นิยมสูบบุหรี่ และจะนิยมสูบกันเมื่อมีการรวมกลุ่มสังสรรค์และสนทนากันระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนพบว่า ร้อยละ 4.1 ของนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ สูบบารากู่ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อย 4.8 ในปี 2016 และอีกหนึ่งการสำรวจใน 7 ประเทศตะวันออกกลาง ยังพบอีกว่า มีการใช้บารากู่ในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 13-15 ปี ถึงร้อยละ 9-15
ผลการศึกษาในปี 2009 ระบุว่า กว่าร้อยละ 58 ของผู้ที่สูบบารากู่เชื่อว่า มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ และไม่มีทางเสพติดได้ แต่มีหลักฐานที่ออกมาชี้ว่า การสูบบารากู่แค่บางครั้งบางคราวนั้นสามารถก่อให้เกิดการเสพติดได้เช่นกัน และอาจกระตุ้นให้เปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ได้ ซึ่งก็คือบุหรี่
“วัยรุ่นส่วนมากมักจะมีความเชื่อกันผิด ๆ ว่าการสูบบารากู่นั้นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป เพราะถูกกรองผ่านน้ำอีกที แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดทางวิทยาศาสตร์ที่มาสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้” อารูนี บาตนาการ์ (Aruni Bhatnagar) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี กล่าว
การสูบบุหรี่และบารากู่ มีผลต่อร่างกายเหมือนกัน แต่ "สิ่งที่เกิดขึ้นกับการสูบบารากู่ คือการที่คุณได้รับสารเคมีจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น" บาตนาการ์ กล่าว
ผู้ที่สูบบารากู่และผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับสารคาร์บอนมอนออกไซด์เหมือนกัน แต่การสูบบารากู่หนึ่งครั้ง โดยปกติแล้วใช้เวลาถึง 30 นาที ทำให้ผู้ที่สูบบารากู่ได้รับสารเคมีในระดับที่สูงกว่าการสูบบุหรี่เพียงหนึ่งมวนในระยะเวลาสั้นๆ
ในการสูบบารากู่เพียงหนึ่งครั้งจะมีการสูดดมควันที่เต็มไปด้วยอนุภาคมลพิษจำนวนมาก ในปริมาณความเข้มข้นที่สูงกว่าบุหรี่ อนุภาคเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูกหรือลำคอและอนุภาคที่เล็กกว่าอาจเข้าไปในปอดและแม้กระทั้งในเลือดได้อีกด้วย
บารากู่ยังมีสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น นิโคตินหรือตะกั่ว สารเคมีเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นสูงในบารากู่มากกว่าในควันบุหรี่ เนื่องจากถ่านถูกเผาในบารากู่ด้วยเวลาและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
การใช้ไปป์น้ำในระยะยาว อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ ตามรายงาน การศึกษาเชิงสังเกตจากปากีสถานและอินเดียแสดงให้เห็นว่า "ผู้ที่ใช้บารากู่เป็นประจำมีความเสี่ยงสูงกว่าในแง่ของการเกิดโรคหัวใจ" บาตนาการ์ กล่าว
-https://edition.cnn.com/2019/03/08/health/hookah-smoking-toxic-chemicals-heart-study-intl/index.html
-https://tobaccoinduceddiseases.biomedcentral.com/articles/10.1186/1617-9625-5-16
-https://thestandard.co/hookah-smoking/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น