วิกฤติโคโรนา และความเป็นไปในสังคม

ปี 2563 เป็นปีที่มนุษย์ได้รับการทดสอบอยากหนัก เมื่อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ระบาด ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและวิกฤตเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึง

สังคมมุสลิม เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

ภาพการละหมาดวันศุกร์แบบเว้นระยะห่างจึงมีให้เห็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในเดือนรอมดอนที่ผ่านมา เราจำเป็นต้องละหมาดตะรอเวียะห์กันที่บ้าน ส่วนการทำฮัจญ์ที่เคยพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ก็ถูกจำกัดจำนวน

การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรกระทำด้วยความเต็มใจ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงลดการแพร่กระจายเชื้อร้ายออกสู่สังคม นอกเหนือไปจากการสวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ แล้ว เรายิ่งต้องหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ช้อนกลางของเรา รวมไปถึงพักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ เลี่ยงการสัมผัสมือ รู้จักเว้นระยะห่าง ไม่ไปอยู่ในแหล่งที่มีการแพร่ระบาด เป็นต้น

แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนออกมา ก็ยังเป็นที่สับสน หลายคนพร้อมรับวัคซีน ขณะที่อีกหลายคนยังไม่กล้า ด้วยเกรงว่าเป็นเรื่องที่เร่งรีบเกินไป

ธันวาคม 2563  ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งใหม่กลับมาให้วิตกกังวลกันอีกครั้งหนึ่ง ธุรกิจที่กำลังจะฟื้นตัว เริ่มซบเซา การท่องเที่ยวนั้นคงต้องลืมกันไปอีกนาน การกลับมาครั้งนี้มีประเด็นเริ่มต้นมาจากคนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย การแพร่ระบาดในครั้งนี้เกิดขึ้นในแหล่ง อโคจรเกือบทั้งสิ้น เช่น บ่อนผิดกฎหมาย ผับ บาร์ นั้นก็หมายความว่า “เรา” ทั้งรัฐทั้งราษฎร์การ์ดตก แต่รัฐคงต้องรับผิดไปเต็ม ๆ เนื่องจากกรณีดังกล่าว

ทางแก้ไข ป้องกัน จึงตกอยู่ที่พวกเราทุกคน  ที่จะต้องใส่ใจ เข้มงวด ในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ทั้งการสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง การให้สลามที่เคยสัมผัสมือ ให้เปลี่ยนเป็นยกมือแสดงสัญลักษณ์ โดยไม่ต้องเกรงใจเมื่อพบปะญาติหรือมิตรสหาย เพราะว่าเราจำเป็นต้องห่วงตัวเอง จำเป็นต้องห่วงครอบครัว หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นผลกระทบมันใหญ่กว่าที่คิด

เมื่อเรารู้จักห่วงตัวเรา ห่วงครอบครัว เท่ากับว่าเราห่วงสังคม ป้องกันสังคมไปด้วยในตัว

ถ้าเรารักษามาตรการต่าง ๆ ไว้ ต่อให้วิกฤตขนาดไหน เราน่าจะปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง

ข้อสำคัญ อย่าลืมขอดุอาให้มียารักษา และวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดี 

จากสุขสาระ ฉบับที่ 203 เดือนกุมภาพันธ์ 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)

ความคิดเห็น