เรื่องน่ารู้กับหมอกษิดิษ – โรคหัวใจล้มเหลว
โรคหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เกิดจากการอกหักแต่ประการใด แต่เป็นโรคที่มักเกิดกับคนสูงอายุมากกว่า เนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังลงไป ถือได้ว่าเป็นโรคที่ฮิตกันมากในหมู่คนไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเมืองหลวง ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และชอบกินอาหารมัน ๆ เค็ม ๆ มาก ๆ ในหมู่มุสลิมเรา มักจะพบคนที่หัวใจวายมาก ในหมู่โต๊ะครูผู้มีชื่อเสียงมีผู้นับหน้าถือตามาก ดังนั้น เมื่อมีงานบุญ หรืองานอะไร ก็มักจะได้รับเชิญอยู่เป็นประจำ ต้องเจอกับอาหารกินบุญซึ่งส่วนมากเป็นอาหารมัน ๆ และยังขาดการออกกำลังกาย ทำให้ในที่สุดเส้นเลือดเต็มไปด้วยไขมันอุดตัน เส้นเลือดหัวใจเริ่มตีบแคบ อุดตันหัวใจ ไม่มีเลือดมากเลี้ยงจึงอ่อนแอลง เมื่อหัวใจอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถทำหน้าที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบคือการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ทั่วถึงได้ หัวใจชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว เนื่องจาก ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเหมือนเดิมอีกต่อไปนั่นเอง
เนื่องจากหัวใจเรานั้น มีสี่ห้อง และยังแบ่งเป็นข้างซ้ายข้างขวา โดยแต่ละข้างทำงานแตกต่างกัน หัวใจด้านซ้ายจะรับเลือดแดงที่เต็มไปด้วยออกซิเจนมาจากปอด แล้วส่งเลือดที่เต็มไปด้วยออกซิเจนนั้น ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนหัวใจด้านขวา มีหน้าที่รับเลือดดำจากร่างกายซึ่งเป็นเลือดเสียและเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์กลับมายังหัวใจ และส่งไปยังปอดเพื่อฟอกเลือดเสียเหล่านี้ที่บริเวณถุงลม ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับถุงพลาสติกบาง ๆ ที่อยู่ในชะลอมหวาย โดยถุงพลาสติกนั้นเปรียบเสมือนถุงลม และชะลอมหวายนั้น เปรียบเสมือนกับเส้นเลือดที่อยู่ล้อมรอบถุงลมนั้น กรรมวิธีการฟอกเลือดให้สะอาดก็โดยการแลกเปลี่ยนเอา คาร์บอนไดออกไซด์จากเลือดซึ่งอยู่ในเส้นเลือดที่อยู่รอบ ๆ ถุงลม ออกไปยังอากาศที่อยู่ในถุงลม และนำเอาออกซิเจนในอากาศที่อยู่ในถุงลมเข้ามาแทนที่ ทำให้เลือดที่ออกไปจากปอดเต็มไปด้วยออกซิเจน เลือดเหล่านี้จะวิ่งไปยังหัวใจด้านซ้าย เพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายต่อไป
อาการหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายในข้างขวาและข้างซ้ายจึงแตกต่างกันออกไป ในผู้ป่วยที่มีหัวใจด้านขวาล้มเหลว (Right sided congestive heart failure) หัวใจด้านขวาทำงานไม่ไหว เลือดจึงไปคั่งอยู่ที่ต้นทางของมัน อันได้แก่ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าหัวใจลงมา อันได้แก่ เท้า หรือขาเป็นต้น เมื่อมีเลือดไปคั่งมาก ๆ ที่ตำแหน่งเหล่านี้ น้ำเลือดก็จะเริ่มซึมออกจากหลอดเลือด และไปอยู่ตามเซลล์ต่าง ๆ หรือช่องว่างระหว่างเซลล์ บริเวณเหล่านั้นจึงบวมน้ำ ถ้าเราเอามือกด ก็จะเป็นรอยบุ๋มลงไปตามนิ้ว แล้วค่อย ๆ หายกลับคืนมาเป็นอย่างเดิม เหมือนรอยเท้าบนชายหาด
ส่วนปลายของหัวใจซีกขวาคือปอดนั้น กลับมีเลือดไปถึงน้อย ดังนั้น จึงว่างเปล่าไม่มีอะไรและถ้ามีเลือดบางส่วนไปถึง(ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่หัวใจพอจะสูบฉีดออกมาได้) ก็จะสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ตามปกติ และวิ่งไปยังหัวใจซีกซ้ายต่อไป
ดังนั้นคนที่เป็นหัวใจซีกขวาวาย จึงมักไม่มีอาการเหนื่อย หอบ นอนได้สบายดี แต่มักจะมีขาบวมกดบุ๋มอยู่บ่อย ๆ เป็นอยู่นาน ๆ เป็นเดือนเป็นปี โดยไม่ได้ไปหาหมอ ในที่สุด เมื่อสาเหตุของหัวใจวายนั้นลามไปถึงหัวใจซีกซ้ายบ้าง คนไข้ก็จะเริ่มอ่อนเพลียลงและอยู่ ๆ วันหนึ่งหัวใจก็จะหยุดเต้นไปอย่างปุปปับ ผู้ป่วยคนนั้นก็จะเสียชีวิตอย่างกะทันหันทันที
ส่วนผู้ป่วยที่หัวใจซีกซ้ายล้มเหลวนั้นต่างกันออกไป คราวนี้ส่วนต้นทางที่เลือดมาคั่งกลับกลายเป็นปอด และส่วนปลายทางกลายเป็นอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแทน
เมื่อเลือดไปคั่งที่ปอดมากขึ้น น้ำก็จะไหลซึมออกมาเข้าไปอยู่ในถุงลม กลายเป็นฟิล์มเคลือบกั้นระหว่างเส้นเลือดกับถุงลม ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจน ระหว่างเส้นเลือดกับอากาศในถุงลมเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากมีน้ำกั้นอยู่ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่พอ เหมือนกับคนจมน้ำ ทั้ง ๆ ที่พยายามหายใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำมีมากขึ้น ๆ เรียกว่าน้ำท่วมปอด คนไข้จะไออยู่ตลอดเพื่อไล่น้ำออก และไอมากขึ้นเมื่อเวลานอนนาน ๆ พวกนี้เป็นอันตรายมาก จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด มิฉะนั้น จะเกิดหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในทันที ยิ่งเวลานอนราบลงไป ปอดจะอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ น้ำจะยิ่งคั่งมากขึ้น ดังนั้น พวกนี้เราจะพบว่า นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหนุนหมอนหลาย ๆ ใบจึงจะหลับได้ แต่ส่วนปลายเท้ากลับไม่มีอาการบวมกดบุ๋มแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ๆ ได้น้อยลง จึงมีอาการเป็นลม อ่อนเพลียไม่มีแรงได้บ่อย ๆ
โรคหัวใจวายไม่ว่าจะเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวาจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่พวกเราจะต้องคอยระมัดระวังเอาไว้ อย่าให้เป็น และหมั่นสังเกตญาติผู้ใหญ่ ถ้ามีอาการดังกล่าว และไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน ควรส่งไปพบแพทย์โดยไวที่สุด เพื่อที่ท่านเหล่านั้น จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และสามารถจะอยู่กับเราไปได้อีกนาน ๆ ครับ วัสลามฯ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น