จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์มลพิษของไทยปี 2561 พบว่า คนไทยทิ้งขยะเฉลี่ย "1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน" ดูเหมือนว่าปริมาณขยะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับพบว่ามีการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องไม่ถึงครึ่ง จึงเกิดเป็นขยะสะสม เกิดเป็นปัญหามลภาวะ ส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากขยะอุดตันท่อระบายน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในวงกว้าง
1.Reduce เป็นวิธีลดการใช้ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด มีหลักง่าย ๆ เลยคือ คิดก่อนซื้อ และลดการใช้ให้เหลือเท่าที่จำเป็น เช่น เตรียมแก้วส่วนตัวไปที่ร้านกาแฟ พกถุงผ้าติดตัวเผื่อเวลาไปตลาด ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงนำภาชนะจากบ้านไปใส่อาหารเวลาซื้อกลับบ้านหรือเมื่อทานอาหารที่ร้านไม่หมด
2.Reuse ใช้ซ้ำ คือ การนำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท Single Use หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น การใช้ขวดแก้วแทนพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง รวมถึงการใช้ถุงผ้า ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในแง่ของการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะผลการวิจัยจาก Environment Agency 2006 ระบุว่า เราต้องใช้ถุงพลาสติกซ้ำประมาณ 133-393 ครั้ง ถึงจะคุ้มค่าเท่ากับการใช้ถุงผ้า 1 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ถุงผ้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ถุงผ้าฝ้าย ถุงผ้าแคนวาส ถุงผ้ากระสอบ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ต่างจากถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากและใช้เวลานานเป็นร้อยปี
3.Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่โดยการแปรรูป หรือการนำวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งาน หรือเมื่อเราไม่ต้องการใช้แล้ว ไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า หรือรถเก็บขยะที่มีการคัดแยก เพื่อส่งกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตแปรรูปกลับเป็นสินค้าใหม่มาขายหรือใช้ได้อีก นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำจัดขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ซึ่งเป็นประเภทขยะที่มีความชื้นสูง ควรแยกทิ้ง เพราะสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักบำรุงดินต่อได้
4.Energy Recover : เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน สำหรับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การนำมารีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก การนำเอาก๊าซที่เกิดในหลุมฝังกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือนำไปเข้ากระบวนการทางความร้อนหรือการเผา ซึ่งเราเรียกง่าย ๆ ว่า เตาเผาขยะ เมื่อขยะผ่านการเผาแล้ว ก็เกิดพลังงานความร้อน ซึ่งแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "โรงไฟฟ้าขยะ" นั่นเอง
การลดปริมาณ “ขยะ” ต้องการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชนทุกคน ที่จะช่วยกันทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่สะอาด สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้นได้อย่างแน่นอน
-https://erc.kapook.com/article24.php
-https://www.thaihealth.or.th/Content/38150
จากสุขสาระ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น