ริมคลอง | ลำไยกับสุขภาพ

ลำไยเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่นิยมรับประทานอย่างมากในบ้านเรา โดยจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดลำพูน สำหรับประเทศที่ปลูกมากที่สุดเห็นจะเป็นประเทศจีนที่มีการปลูกลำไยมาถึง 26 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 5 พวก ชนิดแรกคือ ลำไยกะโหลก ซึ่งเป็นพันธ์ุที่มีผลใหญ่ เนื้อหวานอร่อยซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สีชมพู อีดอ อีแดง อีดำ เป็นต้น ส่วนจำพวกที่ 2-5 ก็คือ ลำไยกระดูก ลำไยสายน้ำผึ้ง ลำไยเถา ลำไยขาว และลำไยธรรมดา

ลำไยเป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำ เนื้อลำไยสดประมาณ 9 ผล หรือ 75 กรัม ให้พลังงาน 59 แคลอรี่ ซึ่งเป็นปริมาณต่อมื้ออาหารที่เหมาะสมต่อผู้มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม ผลไม้ชนิดนี้ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลสูง โดยลำไย 9 ผล มีน้ำตาลถึง 14 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 ช้อนชา คิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำต่อวัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 30 กรัม และหากเป็นเนื้อลำไยอบแห้งก็จะยิ่งมีแคลอรี่และน้ำตาลสูงกว่าลำไยสดมาก

สรรพคุณทางยาของลำไยตั้งแต่ ราก ลำต้น ดอก ใบ ไปจนถึงผล อาทิ ราก สามารถนำมาต้มกับน้ำกินแก้อาการตกขาว หรือถ่ายพยาธิเส้นด้าย เปลือกของลำต้นสามารถนำมาต้มทำยารักษาอาการท้องร่วง ดอกลำไยสามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนใบนั้นพบว่าเมื่อนำมาชงดื่มกับน้ำร้อนจะช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ด้วย สำหรับผลลำไย แน่นอนว่าอุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิด โดยมีคุณสมบัติหนึ่งซึ่งคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนต้องปลาบปลื้ม นั่นคือ กินลำไยช่วยให้หลับสบาย

นักวิจัยได้พบแร่ธาตุหลายชนิดในผลของลำไย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น

  • โซเดียม ที่สามารถช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
  • ฟอสฟอรัส ช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ
  • โพแทสเซียม ช่วยในการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง จึงผ่อนคลายและทำให้จิตใจแจ่มใส
  • แคลเซียม ช่วยในเรื่องความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
  • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันความอ่อนเพลีย
  • ธาตุทองแดง ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก และช่วยให้ร่างกายมีพลังงาน
  • วิตามิน บี 12 มีส่วนสำคัญในการบำรุงประสาทและสมอง
  • โพลีฟีนอล อันได้แก่ แกลลิค แอซิด เอลลาจิค แอซิด แทนนิค แอซิด ที่ช่วยในเรื่องของสารต้านอนุมูลอิสระ

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของลำไย ไม่ว่าจะเป็นใบ ผล เมล็ด เปลือก ลำต้น กิ่ง ดอก ต่างประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะเมล็ดลำไยที่มีในปริมาณสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ซึ่งสารดังกล่าวจะช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระในร่างกายที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์และเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในลำไยมีอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน เช่น กรดแกลลิก กรดเอลลาจิก แทนนิน รวมถึงสารคอริลาจิน (Corilagin) ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก และสารกาบา (GABA) ที่อาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล

ข้อควรระวังของลำไย

แม้ลำไยจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและเต็มไปด้วยสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายหลายอย่าง แต่ก็ใช่ว่าคุณจะสามารถรับประทานได้เป็นจำนวนมากในมื้อเดียวได้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการร้อนใน เกิดแผลในช่องปาก หรืออาการตาแฉะ เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่เพิ่มความร้อนให้กับร่างกาย หลายท่านที่ไม่ทราบเมื่อรับประทานมากอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บคอ ไอ มีเสมหะ หรือเกิดแผลอักเสบในทางเดินอาหาร อีกทั้งยังส่งผลร้ายต่อผู้ที่มีอาการป่วยเบาหวานโดยตรง เพราะอย่างที่ทราบกันว่าลำไยเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานและให้แคลอรีสูง ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง  นอกจากนี้ในผู้ที่มีอาการท้องผูก ท้องเสีย ก็ควรหลีกเลี่ยงการกินลำไยเหมือนกัน เพราะจะทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิมได้ เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่าเผลอกินเพลินจนลืมใส่ใจข้อเสียกันเด็ดขาด


ข้อมูล
https://medium.com
https://www.pobpad.com
https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/1202028

จากสุขสาระ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น