มีลูกยาก (Infertility) คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีเพศสัมพันธ์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัญหาของคู่รักที่เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือปัจจัยอื่นรวมกันอันส่งผลต่อการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุของภาวะมีลูกยากที่เกิดจากผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 33 เกิดจากผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 33 และเกิดจากทั้งผู้ชายและผู้หญิงหรือเกิดจากปัจจัยอื่นที่ระบุไม่ได้คิดเป็นร้อยละ 33 เช่นกัน
สาเหตุของปัญหา โดยรวมอาจเกิดจากไลฟ์สไตล์ของทั้งชายหรือหญิง เช่น ชอบดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ติดสารเสพติด อายุ การเลือกกินอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความเครียด เป็นต้น
ผู้หญิงหลายคนในปัจจุบันไม่ยอมมีลูกจนกว่าพวกเธอจะอายุ 30 หรือ 40 ปีซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการเจริญพันธุ์ แม้กระทั่งกับผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ที่ชะลอการมีลูกกำลังเสี่ยงต่อการมีลูกยากในอนาคตมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ความจริงก็คือผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีภาวะเจริญพันธุ์ประมาณ 72% ของผู้ไม่สูบบุหรี่ เมื่อปัจจัยอื่น ๆ เท่ากัน มีโอกาสสูงกว่าที่ผู้สูบบุหรี่จะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีถึง 3.4 เท่าในการตั้งครรภ์
การศึกษาจำนวนมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าการตอบสนองของการตกไข่ที่ลดลงเช่นเดียวกับการปฏิสนธิและการฝังตัวของไซโกต อาจมีความบกพร่องในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ สารเคมีในยาสูบอาจเปลี่ยนแปลงของเหลวในปากมดลูกทำให้เป็นพิษต่อตัวอสุจิ ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยากขึ้น
สำหรับผู้ชายที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะไร้สมรรถภาพมากขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ สารเคมีพิษบางชนิดที่พบในบุหรี่อาจส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ความพิการแต่กำเนิด มะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในเด็ก
การสูบบุหรี่ส่งผลต่อโอกาสความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วทั้ง IVF และ ICSI อย่างมาก เนื่องจากพิษจากบุหรี่ส่งผลเสียต่ออสุจิและไข่ที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้อสุจิอ่อนแรง เคลื่อนไหวช้า และรูปร่างผิดปกติ ซึ่งทำให้การปฏิสนธิไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และยังเสี่ยงต่อทารกที่อาจจะมีความผิดปกติที่สุดท้ายก็อาจจะส่งผลให้แท้งภายหลังได้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองก็ยังมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ โดยมีผลการการศึกษาหนึ่งกล่าวว่า ผู้หญิงที่สัมผัสกับควันบุหรี่มือสองจะมีจำนวนไข่ลดน้อยลง และไข่ที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการทำเด็กหลอดแก้วลดลง 46% มีอัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วมีอยู่เพียง 22% ในขณะที่คู่ที่ไม่สูบบุหรี่จะมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าถึง 38%
หมายเหตุ
อิ๊กซี่ (ICSI) หรือ ที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นชินกับคำว่า "เด็กหลอดแก้ว" นั้นเป็นกระบวนการทางแพทย์ที่ช่วยในเรื่องการเจริญพันธุ์ในเชิงของการปฏิสนธินอกร่างกาย ซึ่งเป็นเทคนิคการแพทย์ชั้นสูงที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากการทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF เกือบทุกประการ
IVF (In – vitro Fertilization) หรือที่หลายๆคนมักจะเข้าใจและคุ้นหูกับคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” มากกว่า ซึ่งสาเหตุที่ต้องเรียกว่าเด็กหลอดแก้วนั้นก็เพราะว่า วิธีนี้คือการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ที่เป็นการนำไข่ที่คัดแล้วของฝ่ายหญิง และอสุจิที่คัดเลือกแล้วของฝ่ายชายนำมาปฏิสนธิภายในหลอดแก้วทดลอง จากนั้นนำมาเพาะเลี้ยงภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์จนเกิดเป็นตัวอ่อนแล้วจึงนำตัวอ่อนย้ายไปฝังในโพรงมดลูกอีกครั้งเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติต่อไป
https://www.pobpad.com
https://www.paolohospital.com
https://www.verywellmind.com/smoking-womens-health-perspective-3520429
จากสุขสาระ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น