ปัจจุบันมีความเชื่อที่ว่าการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าเป็นอภิสิทธิ์ของแต่ละคน หรือการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงการเข้าสังคม รัฐไม่ควรนำเรื่องศาสนามาห้ามการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า และไม่ควรแปะป้ายสุขภาพต่อผู้หญิงว่าการสูบบุหรี่จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ หรืออนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ?
ในอดีตบุหรี่ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มักไม่ได้รับการยอมรับและมีข้อตำหนิต่าง ๆ นา ๆ ตรงนี้บุหรี่จึงกลายเป็นเครื่องมือที่จะแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย?
อย่างไรก็ตามในปี 1602 เริ่มมีรายงานที่ระบุว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเทียบเคียงกับปัญหาสุขภาพของพนักงานกวาดปล่องไฟในอังกฤษ แต่ยังไม่ได้รับความสนใจ
ก่อนศตวรรษที่ยี่สิบการสูบบุหรี่ถูกมองว่าเป็นนิสัยที่เสียหายและไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง จิตรกรชาวดัตช์ใช้บุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลาของมนุษย์ ในศตวรรษที่ 17 และในศตวรรษที่ 19 บุหรี่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของ “ผู้หญิงชั้นต่ำ และโสเภณี” การสูบบุหรี่ของผู้หญิงถูกมองว่าผิดศีลธรรมและบางรัฐพยายามป้องกันไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ในปี 1904 ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Jennie Lasher ถูกตัดสินจำคุกสามสิบวันเนื่องจากทำให้ศีลธรรมของเด็ก ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการสูบบุหรี่ต่อหน้าพวกเขาและในปี 1908 คณะเทศมนตรีนครนิวยอร์กมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าห้ามผู้หญิงสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นต้น แน่นอนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมเหล่านี้ถูกบังคับใช้ในยุคที่เรียกว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่”
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เมื่อผู้ชายต้องออกไปทำสงคราม และผู้หญิงจำเป็นต้องออกมาหาเลี้ยงชีพ จะด้วยความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตามผู้หญิงจึงสูบบุหรี่กันมากขึ้น แม้ว่าในขณะนั้นยังมีข้อห้ามทางกฎหมายและสังคมคุมอยู่
ในปี 1919 ผู้จัดการโรงแรมคนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้หญิง.. ไม่รู้จะทำอย่างไรกับการสูบบุหรี่ พวกเธอไม่ทราบวิธีการถือบุหรี่อย่างถูกต้อง” บริษัทยาสูบจึงต้องทำให้แน่ใจว่าผู้หญิงจะไม่ถูกเยาะเย้ยเพราะสูบบุหรี่ในที่สาธารณะไม่เป็น ขณะที่ Philip Morris จัดให้มีการสาธิตการสูบบุหรี่สำหรับผู้หญิง
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ บริษัทยาสูบมักจะนำเสนอภาพผู้หญิงอายุน้อยและน่าดึงดูดในโฆษณา เพื่อส่งเสริมการขาย อย่างไรก็ตามบทบาทของพวกเธอคือการล่อลวงผู้ชายมากกว่าผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง ต่อเมื่อการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น อุตสาหกรรมยาสูบใช้ประโยชน์จากทัศนคติทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีต่อผู้หญิงโดยการส่งเสริมให้การสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย "คบเพลิงแห่งอิสรภาพ"
“คบเพลิงแห่งอิสรภาพ Torches of Freedom” เป็นวลีที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ที่ใช้ประโยชน์จากแรงบันดาลใจของผู้หญิง โดยขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี คลื่นลูกแรกในสหรัฐอเมริกา บุหรี่จึงถูกอธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยและความเท่าเทียมกับผู้ชาย
ในปี 1928 จอร์จ วอชิงตัน ฮิลล์ ประธานบริษัทยาสูบอเมริกัน ได้ตระหนักถึงการตลาดที่มีศักยภาพในผู้หญิงและกล่าวว่า "มันจะเหมือนกับการเปิดเหมืองทองคำที่สนามหน้าบ้านของเรา"
![]() |
George Washington Hill |
เพื่อขยายจำนวนผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ฮิลล์ตัดสินใจจ้าง Edward Bernays เป็นเงินถึง 25,000 ดอลลาร์ ซึ่งเบอร์เนย์ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบิดาแห่งการประชาสัมพันธ์ ให้ช่วยจัดหาผู้หญิงที่สูบบุหรี่ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
![]() |
Edward-Bernays |
ในปี 1929 เบอร์เนย์ตัดสินใจจ้างผู้หญิงสูบบุหรี่ เพื่อชู "คบเพลิงแห่งอิสรภาพ" ขณะเดินขบวนพาเหรดอีสเตอร์ในนิวยอร์ก และประท้วงความไม่เท่าเทียมทางเพศ นี่เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะจนถึงเวลานั้นผู้หญิงได้รับอนุญาตให้สูบบุหรี่ในบางสถานที่เท่านั้น เขาระมัดระวังอย่างมากในการเลือกผู้หญิงมาเดินขบวนเพราะ “แม้ว่าพวกเธอควรจะดูดี แต่ก็ไม่ควรดูเป็นนางแบบมากเกินไป” นั้นหมายถึงผู้หญิงที่ถูกเลือกจะมีความน่าเชื่อถือ และน่าดึงดูดพอที่จะมีอิทธิพลต่อมวลชน
![]() |
ผู้หญิงที่ถูกเลือกมีความน่าเชื่อถือ และน่าดึงดูด |
เมื่อเบอร์ธา ฮันต์ เลขาของเบอร์เนย์ ก้าวลงบนถนนที่แออัดไปด้วยผู้คน พร้อมบุหรี่ในมือ แม้จะได้รับการเย้ยหยัน ขณะที่หญิงสาวสิบคนเดินตามเบอร์ธาฮันต์ในวันนั้นไปตามถนนฟิฟท์อเวนิวพร้อมกับจุด “คบเพลิงแห่งอิสรภาพ” (สูบบุหรี่) ได้สร้างกระแสอย่างคาดไม่ถึง การเดินขบวนยังเกิดขึ้นในบอสตัน ดีทรอยต์และซานฟรานซิสโก ขณะที่หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศก็ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระแสก็ยิ่งร้อนแรง
![]() |
Bertha-Hunt |
ด้านเบอร์เนย์ได้ออกประกาศว่าการสูบบุหรี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการปลดปล่อยผู้หญิง เป็นโอกาสที่จะแสดงออกถึงความเข้มแข็งและอิสรภาพที่ค้นพบใหม่
หลายวันต่อมาเบอร์เนย์ ไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงเท่าที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เท่านั้น ยังผุดความคิดใหม่ในการโฆษณาบุหรี่เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุหรี่ในการลดความอ้วนและความมีเสน่ห์ ซึ่งประสบความสำเร็จทำให้ยอดขายของ Lucky Strikes เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 1923 ถึงปี 1929 เท่ากับว่าเบอร์เนย์ได้คืนเงิน 25,000 ดอลลาร์กับไปให้ฮิลล์ด้วยแผนรณรงค์นี้
แม้ยอดขายบุหรี่จะเพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการให้สิทธิออกเสียงแก่ผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม เบอร์เนย์ ได้ตระหนักถึงความเสียหายของผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคที่เริ่มทยอยออกมาในภายหลัง แม้ว่าการตีตราผู้หญิงที่สูบบุหรี่กำลังจางหายไป แต่บริษัท American Tobacco Company ก็สามารถกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้บริโภคผู้หญิงได้ต่อไป
จอร์จ วอชิงตัน ฮิลล์ ประธานบริษัทยาสูบอเมริกัน จึงเป็นนักธุรกิจที่รู้จักฉกฉวยโอกาสจากการเติบโตของขบวนการสิทธิสตรีในยุคนั้น คำพูดของเขาที่ว่า "มันจะเหมือนกับการเปิดเหมืองทองคำที่สนามหน้าบ้านของเรา" บ่งบอกเจตนาของเขาได้อย่างแท้จริง
เหตุผลในการสูบบุหรี่ของผู้หญิงมีมากมายแตกต่างกันออกไป แต่เหตุผลสำคัญที่อยากให้เลิกสูบบุหรี่ คงมีอยู่เรื่องเดียว ซึ่งนั่นก็คือผลกระทบ ที่จะเกิดกับร่างกายและสุขภาพของคุณอย่างจริงจังและร้ายแรง น่าเสียดายที่รายงานสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้(ผู้ที่สูบบุหรี่-ไม่ว่าชายหรือหญิง) เกิดความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพได้เลย ตรงกันข้ามการรณรงค์ความเท่าเทียมกันที่ใช้บุหรี่เป็นเครื่องมือนั้นในสมัยนั้น กลับแอบแฝงไปด้วยผลกำไรมหาศาลของบริษัทบุหรี่ โดยที่เราไม่รู้ตัว
“เลิกบุหรี่” วันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง !!
https://en.wikipedia.org/wiki/Torches_of_Freedom
https://yourstory.com/2014/08/torches-of-freedom
https://www.cancercouncil.com.au/cancer-prevention/smoking/articles/a-brief-history-of-smoking/
https://thesocietypages.org/socimages/2012/02/27/torches-of-freedom-women-and-smoking-propaganda/
https://biblio.uottawa.ca/omeka2/jmccutcheon/exhibits/show/american-women-in-tobacco-adve/torches-of-freedom-campaign
จากสุขสาระ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น