เราทุกคนเคยได้ยินคำเตือนเกี่ยวกับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าบุหรี่อาจทำให้เกิดมะเร็งและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แต่ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เหมือนใคร ความจริงที่น่าเศร้าคือผู้หญิงราว 23 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา (23 เปอร์เซ็นต์ของประชากรหญิง) ยังคงสูบบุหรี่
แม้จะรู้ว่ามีคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ แต่ความจริงก็คือผู้สูบบุหรี่รายใหม่ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นวัยรุ่น และเด็กสาววัยรุ่น(ในสหรัฐฯ)กว่า 1.5 ล้านคนกำลังสูบบุหรี่
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ต้องทนทุกข์ทรมานจากผลเสียของการสูบบุหรี่เช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆ (ปอด ปาก กล่องเสียง คอหอย หลอดอาหาร ตับอ่อน ไตและกระเพาะปัสสาวะ) และโรคทางเดินหายใจ แต่ในฐานะผู้หญิงจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะ
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เสี่ยงต่อผลกระทบร้ายแรงรวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ลิ่มเลือด หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุและผู้หญิงที่สูบบุหรี่มากกว่า 35 ปีไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด สำหรับผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรได้รับการตรวจความดันโลหิตทุก ๆ 6 ถึง 12 เดือน
สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มีอันตรายอย่างไร?
บุหรี่ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อทารก และส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ด้วย หากคุณแม่สูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์ความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนร้ายแรงจะเพิ่มขึ้นมาก โดยภาวะแทรกซ้อนจากการสูบบุหรี่ที่ร้ายแรงที่สุดต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย ได้แก่
- แท้งและตายตอนคลอด
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
- ความเสี่ยงเป็นโรคไหลตายในเด็ก (SIDS)
- เพิ่มความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจ
- เสี่ยงความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
สารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่ และทาร์จะมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน (acetylcholine) โดปามีน (dopamine) และนอร์อีพิเนฟริน (nor epinephrine) ส่งผลให้มีการขัดขวางการพัฒนาของเซลล์ประสาทของทารก ทำให้หลอดเลือดในรกหดตัวและลดปริมาณออกซิเจนที่ส่งผ่านสายสะดือไปเลี้ยงทารก ทารกจึงได้รับอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลให้น้ำหนักแรกเกิดน้อย ขาดสารอาหารในระยะตั้งครรภ์และเพิ่มอัตราการตายในวัยทารก นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม เช่น เชาวน์ปัญญาบกพร่อง มีปัญหาการเรียน ซุกซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ตลอดจนมีปัญหาด้านการเข้าสังคม
การศึกษาพบว่าหากคุณแม่ที่สูบบุหรี่ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนคลอด แม้จะเป็นการสูบบุหรี่เพียงครั้งเดียวก็จะส่งผลให้มีการยับยั้งการสร้าง DNA ของทารกได้นานหลายชั่วโมง
นอกจากผลกระทบต่อทารกแล้ว ในส่วนของผลกระทบต่อมารดา คือทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหลอดเลือดอุดตัน” เพิ่มขึ้น โดยอาจก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำชั้นลึก (deep vein thrombosis) หรือเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่สุด คือ “หลอดลมอักเสบ” (ซึ่งพบได้มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 15 เท่า ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ภาวะหอบหืด 3 เท่า ส่วนผลต่อการตั้งครรภ์พบว่าเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์นอกมดลูก 5 เท่า)
ทางที่ดีคุณแม่ควรหยุดสูบบุหรี่ให้ได้ก่อนที่จะตั้งครรภ์ ในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่วางแผนยังไม่สายเกินไปที่จะหยุดสูบบุหรี่ ควรเลิกบุหรี่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งหยุดสูบเร็วเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้อง หากเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จภายใน 3-4 เดือนของการตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดอัตราเสียงที่มีผลต่อทารกได้มากขึ้น
การเลิกบุหรี่แม้จะเป็นเรื่องยาก สารนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดที่เลิกไม่ง่ายอย่างที่คิด หากพยายามแล้วยังรู้สึกว่าเลิกบุหรี่ไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อที่หาวิธีช่วยให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น ลองปรึกษาคุณแม่ที่เลิกบุหรี่สำเร็จ เผื่อจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์
- การเลิกสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงลดผลกระทบจากพิษภัยของบุหรี่ต่อทารกในครรภ์เท่านั้น ยังช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพดีขึ้นทุกวัน
- การเลิกสูบบุหรี่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการแท้งลูก ลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์นอกมดลูกและการคลอดก่อนกำหนดด้วย ปอดจะฟื้นตัวหลังเลิกสูบ ความจุปอดเพิ่มขึ้นและระบบหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตัวคุณแม่เมื่อมดลูกขยายใหญ่ขึ้น จนเริ่มดันปอดทำให้หายใจไม่สะดวก การส่งอาหารจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ง่ายขึ้น
- การเลิกสูบบุหรี่ส่งผลดีต่อทารกในครรภ์หลายด้าน เช่น ลูกของคุณจะมีสุขภาพดี น้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน รับสารอาหารจากแม่ได้มากขึ้น ลดเวลาการอนุบาลเด็กหลังคลอดในโรงพยาบาล ไม่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่และตาเหล่
การเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่จะดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยอย่างแน่นอน
https://hpc11.go.th/web60/cluster_child60/wp-content/uploads/2017/01/B2-23.pdf
https://www.huggies.co.th/th-th/getting-pregnant/get-ready-for-your-child/smoking-during-pregnancy
จากสุขสาระ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น