“กระบองเพชร” มีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่ ปลูกง่าย ตายยาก ไม่ต้องรดน้ำ กระบองเพชรเป็นพรรณไม้ขนาดเล็กถึงปานกลาง ลักษณะต้นเตี้ย ๆ มีหลากหลายรูปทรงสวยงามแตกต่างกันออกไปแล้วแต่สายพันธุ์ ลักษณะเด่นเฉพาะตัวของกระบองเพชร คือ หนามแหลมคมที่ปกคลุมอยู่รอบต้น จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม หรือปลูกเล่นเป็นงานอดิเรก
ปัจจุบันมีคนหลงใหลพรรณไม้ชนิดนี้เพิ่มขึ้น พบว่ามีต้นกระบองเพชรบางพันธุ์ที่กินได้ทั้งใบและผล เช่น สายพันธุ์ Opuntia Ficus-indica เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อเก็บผลมากที่สุดเนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ มีรสหวาน พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ เม็กซิโก, มอลตา, สเปน, ซิซิลีและชายฝั่งของภาคใต้ของอิตาลี, กรีซ, ลิเบีย, ตูนิเซีย, โมร็อกโก, แอลจีเรีย, เลบานอน, ซีเรีย, อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, เยเมน, อิสราเอล, ชิลี, บราซิลและตุรกี
Opuntia Ficus-indica เป็นสายพันธุ์หนึ่งของวงศ์กระบองเพชร เป็นพืชที่โดดเด่นและมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจการเกษตรทั้งในส่วนที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งทั่วโลก เชื่อกันว่า Opuntia Ficus-indica เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกเนื่องจากพบว่าสายพันธุ์นี้มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับที่พบในภาคกลางของเม็กซิโก
กระบองเพชรพันธุ์นี้มีดอกอยู่ 3 สีคือ สีขาว สีเหลืองและสีแดง วิธีการกินผลคือ นำไปแช่ตู้เย็นจนเย็นได้ที่แล้วนำมาปลอกเปลือก เนื้อมีสีแดง สีม่วงหรือสีขาว มีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก (ลักษณะเหมือนแก้วมังกร) ที่มักกลืนได้ แต่ผู้ที่มีปัญหาในการย่อยเมล็ดควรหลีกเลี่ยง รสชาติมีทั้งชนิดหวานและเปรี้ยว นอกจากจะนำผลไปรับประทานสดแล้ว ยังมีการทำแยม และทำเหล้าจากผลไม้ชนิดนี้ด้วย โดยผลของกระบองเพชรมีลักษณะคล้ายลูกแพร์จึงเรียกกันว่า prickly pear (ลูกแพร์มีหนาม)
ส่วน "ใบ" ของกระบองเพชรที่เราเอามาชำ ที่จริงไม่ใช่ "ใบ" แต่มันคือส่วนของ "ลำต้น" และใบของกระบองเพชรนั้นแท้จริงคือ "หนามที่ลดรูป" เพื่อกันคายน้ำในอากาศแห้งแล้ง แต่คนทั่วไปนึกว่าลำต้นคือ ใบ
ใบ (ลำต้น) ปัจจุบันนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ยา และอาหารเสริมต่าง ๆ เพราะสารสกัดจากกระบองเพชรสายพันธุ์ Opuntia ficus indica มีคุณสมบัติในการช่วยลดน้ำหนัก ช่วยลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกาย โดยมีส่วนของเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำจะทำหน้าที่จับกับไขมันที่เรารับประทานเข้าไปตั้งแต่ส่วนบนของกระเพาะ และเส้นใยที่ละลายน้ำจะสร้างเจลขึ้นมาห่อหุ้มไขมันนั้น ไม่ให้เอนไซม์ไลเปสที่สร้างจากตับอ่อนเข้ามาแตกโมเลกุลไขมัน ทำให้ไขมันไม่สามารถถูกดูดซับเข้าไปทางผนังลำไส้เล็กได้ และถูกขับออกไปในรูปของกากอาหาร ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และลดการสร้าง LDL ในร่างกายได้
อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มที่จะปลูกกระบองเพชร Opuntia Ficus-indica เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่สดใหม่สำหรับวัว และยังถูกใช้ให้เป็นแนวรั้ว วัวจะหลีกหนีจากกระบองเพชรซึ่งมีหนาม และผลของมันยังสามารถเก็บมาให้วัวกินได้แต่ต้องนำไปเผาก่อน เพื่อให้หนามไม่แหลมคม
ในส่วนของแผ่นกระบองเพชรก็สามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้ แต่มีคุณค่าทางอาหารต่ำ จะใช้ก็ต่อเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งและใช้เป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้น (ก่อนให้สัตว์รับประทานต้องเผาให้หนามหมดก่อน)
ในประเทศเม็กซิกันมีการรับประทานแผ่นกระบองเพชรอ่อน ซึ่งจะเด็ดกิ่ง (ที่มีลักษณะเป็นแผ่น) ก่อนที่หนามจะแข็ง โดยหั่นเป็นเส้นและผัดกับไข่เป็นอาหารเช้า
https://en.wikipedia.org/wiki/Opuntia_ficus-indica
http://www.premiumseedshop.com/category/617
https://www.facebook.com/114811735333801/posts/269351756546464/
http://cactus-thai.blogspot.com/2015/06/opuntia-ficus-indica.html
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fasaiwonmai&month=08-2017&date=30&group=25&gblog=24
http://healthseries.lnwshop.com/article
จากสุขสาระ ฉบับที่ 205 เดือนเมษายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น