เรื่องน่ารู้กับหมอกษิดิษ – ผลดีของการถือศีลอด

นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า

ในระหว่างนี้มุสลิมทั้งหลาย กำลังอยู่ในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนซึ่งพวกเราคุ้นเคยกันดี มีบทความมากมายเกี่ยวกับผลบุญอันมหาศาลที่จะได้รับจากการถือศีลอด และการทำความดีในเดือนรอมฎอน ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่ทราบกันดี และปฏิบัติตามอย่างแข็งขัน แต่ผลของการถือศีลอดกับสุขภาพ หรือผลประโยชน์ทางดุนยา กลับไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึง โดยมากเนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดว่า การศึกษาผลดีทางดุนยา เป็นสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ใจของผู้ปฏิบัติศาสนกิจนั้น ไขว้เขวไป ไม่หวังผลในอาคิเราะฮฺ แต่กลับหวังผลทางดุนยาแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะแท้จริงแล้ว คำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์นั้น ทั้งหมด ก็เพื่อผลดีต่อมนุษย์เองทั้งสิ้น ในทุกๆ ด้าน ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ไม่ใช่เฉพาะจะไปรอรับเอาโลกหน้าเพียงอย่างเดียว การศึกษาข้อดีต่างๆ ของการปฏิบัติศาสนกิจ กลับเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความศรัทธา ให้กับเรามากขึ้น เปรียบเสมือน เวลาพ่อแม่สั่งให้เราทำอะไร เราก็เต็มใจทำอยู่แล้ว และยิ่งรู้ว่า คำสั่งของท่านนั้น ไม่มีสิ่งอื่นเจือปนนอกจากความหวังดีต่อเรา หวังให้เรามีความสุข ความเต็มใจ ศรัทธา และความรักในพ่อแม่ก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้นอย่างแน่นอนที่สุด 

นอกจากนั้น การไม่ศึกษาผลดีผลเสีย ยังทำให้เราไม่รู้ฮิกมะฮฺของสิ่งที่พระองค์ประทานให้เรามา เมื่อ    ศาสนิกอื่นมาแสดงความสงสัยในผลดีของสิ่งต่าง ๆ จึงทำให้ตอบโต้ด้วยเหตุผลไม่ได้ จึงต้องใช้กำลัง หรือการข่มขู่ หาว่าดูหมิ่นศาสนาเป็นหลักเพื่อเป็นการปิดปากผู้พูดเสีย (แต่ไม่สามารถปิดจิตใจที่สงสัยได้) ซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีที่สุดในการตอบโต้กับคนต่างศาสนิกเหล่านั้น ดังนั้น พวกเราจึงควรหันมาสนใจเกี่ยวกับผลดีทางโลกกันบ้าง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเราและศาสนาของเราโดยรวมในระยะยาว

เกี่ยวกับการถือศีลอดนั้น พวกเราชาวมุสลิม เชื่อมั่นแน่นอนว่า มีประโยชน์อย่างยิ่งในทุก ๆ ด้าน และไม่มีโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน สุขภาพ ทั้งใจและกาย  แต่ทำไมผลการศึกษาทางการแพทย์หลายๆ ครั้งกลับให้ผลตรงข้าม เป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ตรงกับ ฮะดีษท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ ที่ว่า

رُبَّ صَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ صِيَامِهِ إِلاَّ الْجَوْعُ ، رُبَّ قَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ قِيَامِهِ إِلاَّ الْسَّهْرُ

“มากมายเท่าไรแล้ว ที่ผู้ถือศีลอดมิได้รับสิ่งใดตอบแทนใด ๆ เลย นอกจากความหิวโหย มากมายเท่าไรแล้ว ที่ผู้ละหมาด (ตอนกลางคืน) มิได้รับผลตอบแทนใด ๆ นอกจากการอดนอน”

ฮะดีษนี้ เป็นสิ่งเตือนใจเราได้อย่างดีว่า การถือศีลอด ไม่ใช่ให้ผลดีเสมอไป ถ้าทำไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกันการละหมาด ไม่ใช่ให้ผลดีเสมอไป ถ้าทำไม่ถูกต้อง

มีรายงานทางการแพทย์มากมาย ที่บอกว่า หลังการถือศีลอดคนมุสลิมกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีไขมัน มีน้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่บางรายงานกลับบอกว่า หลังการถือศีลอดคนมุสลิมกลับมีน้ำหนักตัวลดลง มีไขมัน มีน้ำตาลลดลง ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่อื่นใด แต่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตัวนั่นเอง การปฏิบัติตัวที่ผิดพลาดย่อมให้ผลที่ไม่ดีแก่เรา การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจึงจะให้ผลดีแก่เราอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์

ในเรื่องการถือศีลอดนั้น เคล็ดที่สำคัญก็คือ อย่าไปตื่นเต้น หรือหวาดกลัวกับการอดอาหารมาก จนถึงกับต้องรับประทานอาหารทั้งคืน เพื่อไม่ให้หิว ต้องนอนกลางวันทั้งวันเพราะกลัวหิว ไปไหนไม่ได้ เพราะกลัวหิวน้ำ เวลารับประทานอาหารก็อัดเข้าไปเต็มที่จนแน่นท้อง เพราะอยากมากเนื่องจากหิวจัด หรือรับประทานมากในมื้อซุโฮรฺเพื่อจะได้ไม่หิวในตอนกลางวัน ฯลฯ  เหล่านี้ คือหนทางที่ผิดพลาดทั้งสิ้น

วิธีการถือศีลอดที่ถูกต้องคือ

1. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ตรงตามเวลาทั้งเวลาละศีลอด และเวลาซุโฮรฺ ดังนั้น การเร่งรีบละศีลอดเมื่อเข้าเวลา และการล่าช้าในการรับประทานซุโฮรฺให้ใกล้หมดเวลา ตามซุนนะฮฺ จึงเป็นการทำให้เรารับประทานอาหารได้ตรงต่อเวลาอย่างที่สุดมากกว่าเดือนใด ๆ โอกาสที่จะเกิดโรคกระเพาะหรือปวดท้องจากน้ำย่อยออกมาย่อยกระเพาะจะน้อยลง

2. การรับประทานอาหารต้องเหมือนปกติ ตามหลักการอิสลามเรา คือ รับประทานอาหารเพียงแต่หนึ่งส่วนสามของกระเพาะ เหลือหนึ่งส่วนสามให้เป็นน้ำ และหนึ่งส่วนสามเป็นอากาศ เพื่อจะได้ไม่มีปริมาณอาหารมากเกินไปจนท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือทำให้น้ำหนักขึ้น หรือไขมัน น้ำตาล เกินอีก

3. อาหารควรมีทั้งผักผลไม้ และโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ส่วนแป้ง น้ำตาล และของหวานต่างๆ ให้รับประทานให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบในตอนกลางคืน จะทำให้ควบคุมน้ำหนักไม่ได้

4. ในการละศีลอด ต้องละด้วยน้ำเปล่า และอินทผลัมสามเม็ด หลังจากนั้น ให้ไปละหมาดมักริบก่อน เพื่อให้ได้พลังงานพอที่จะช่วยย่อยอาหาร และเตรียมพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารหนักหลังละหมาดแล้ว หลังจากละหมาดแล้ว จึงกลับมารับประทานใหม่ตามกติกาเดิมคือ หนึ่งส่วนสามของกระเพาะ

5. กลางวัน คือเวลาทำงาน เช่นเดียวกับปกติ แต่พยายามหลีกเลี่ยงอากาศร้อน หรือที่ทำให้เสียเหงื่อมากๆ เพราะจะทำให้ความดันตก หรือเป็นตะคริวได้

6. ไม่พูดสิ่งไม่ดี ไม่คิดสิ่งที่ไม่ดี อ่านกุรอานตลอด จะทำให้ใจสงบ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง

7. ละหมาดตะรอเวียะฮฺ และกิยามมุลลัยลฺ สม่ำเสมอ เพื่อเป็นการออกกำลังกายที่ดี

8. ผู้ชอบดื่มชา กาแฟ วันแรก ๆ จะมีปัญหาจากการปวดหัวบ้างเนื่องจากเส้นเลือดที่ศีรษะขยายตัว สักสามวันจะหายไปเอง

9. ผู้ติดบุหรี่ ควรเลิกได้ในเดือนนี้ หรือสูบให้น้อยลงมาก ๆ แล้วคงระดับนั้นไว้หลังหมดเดือนรอมฎอนแล้ว จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้

10. ถ้ามียาจะต้องเปลี่ยนมื้อเช้าเป็นมื้อหลังละศีลอด และมื้อกลางคืนเป็นมื้อซุโฮรฺ โดยต้องปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ อย่าทำโดยพลการ

ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงบันดาลผลดีที่งามทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺแด่ผู้ที่ถือศีลอดทุกท่านเทอญ วัสลามฯ

ที่มา สุขสาระ 2555

จากสุขสาระ ฉบับที่ 205 เดือนเมษายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น