งานวิจัยล่าสุดชี้ "ควันบุหรี่มือสอง" ทำให้เด็กเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคปอดเมื่อโตขึ้น
รายงานจากเว็บไซต์ บีบีซี ระบุว่า นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการเลียงดูของครอบครัวที่่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับปอดอย่างรุนแรงได้เมื่อโตขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม
งานวิจัยดังกล่าว เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเวชศาสตร์ป้องกันแห่งอเมริกา ( America Journal of Preventive Medicine) เป็นการตอกย้ำให้เห็นพิษภัยและอันตรายที่เกิดขึ้นจาก "ควันบุหรี่มือสอง" ที่มีต่อเด็ก
สมาคมมะเร็งแห่งอเมริกาทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 70,900 คนจากผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยได้สอบถามเกี่ยวกับการสัมผัสควันบุหรี่ตลอดชีวิตรวมทั้งการตรวจสุขภาพของพวกเขาตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พบว่า เด็กที่เติบโตในสภาพผู้ปกครองสูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง โดยหากพิจารณาในสัดส่วนการเสียชีวิตในแต่ละปีของผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่แต่เสียชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกัน พบว่าทุก ๆ 1 แสนคน จะมีเด็กเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวถึง 7 คน
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อาศัยกับผู้ที่สูบบุหรี่ในวัยผู้ใหญ่ ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหลายอย่างเช่นกัน อย่างการสัมผัสหรือการอยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่เป็นระยะเวลานานราว 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่อาศัยกับครอบครัวปลอดบุหรี่
- ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่า 27%
- ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 23%
- ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่า 42%
- แนะให้สูบนอกบ้าน แต่ดีที่สุดคือเลิกสูบ
เฮเซิล ชีสแมน จากกลุ่มรณรงค์ Action on Smoking and Health ให้ความเห็นภายหลังจากที่มีงานวิจัยฉบับนี้ว่าเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึง การป้องกันเด็กจากภัยจากควันบุหรี่ สามารถทำได้โดยผู้ปกครองต้องไปสูบบุหรี่ข้างนอก
"วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันเด็กคือ เลิกสูบบุหรี่ไปเลย"
ดร.นิค ฮอปกินสัน ที่ปรึกษาทางการแพทย์ของมูลนิธิปอดในอังกฤษกล่าวเพิ่มเติมว่า "ควันบุหรี่มือสองมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวเช่นกัน"
ผลการวิจัยนี้ได้เชื่อมโยงความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ กับการสัมผัสควันบุหรี่ในช่วงวัยเด็กได้อย่างชัดเจน แม้ว่าเติบโตขึ้นมาเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ได้ในเวลาต่อมา
ดร.ไรอัน ไดเวอร์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานวิจัยดังกล่าวบอกว่า "ผลการวิจัยที่ได้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ทำให้ทราบถึงวิธีการลดความเสี่ยงและอันตรายจากสัมผัสควันบุหรี่มือสองได้"
https://www.bbc.com/thai/features-45237837
จากสุขสาระ ฉบับที่ 206 เดือนพฤษภาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น