ควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายต่อเด็ก ตอน 5

โรคหูชั้นกลางในเด็ก 

โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) คือ โรคที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและชั้นใน เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเซียน (Eustachian tube) ที่เป็นท่อเล็ก ๆ เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและลำคอของเด็กสั้นกว่า และอยู่ในแนวระนาบมากกว่า ทำให้เชื้อโรคจากโพรงจมูกและลำคอเข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากรูปร่างและการทำงานของท่อยูสเตเชียนรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันโรคยังไม่สมบูรณ์

อาการที่เกิดขึ้น

  • ปวดหู ในเด็กเล็กที่พูดยังไม่ได้ อาจ ดึงหู ทุบหู ร้องกวนงอแงผิดปกติ ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อ มีหนองไหลออกจากหู
  • หากรักษาช้า อาจทำให้แก้วหูทะลุ สูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวร อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และฝีในสมอง

การป้องกัน

  • ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับนมผสม
  • ไม่ควรนอนดูดนม เพราะทำให้น้ำนมไหลย้อนเข้าหูชั้นกลาง ควรอุ้มทารกเอียง 45 องศา ขณะให้นม
  • เริ่มฝึกให้ลูกเลิกขวดนมตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน อย่างช้าไม่ควรเกินอายุ 18 เดือน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่
  • ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ควรเลิกอย่างเด็ดขาด
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กโดยเฉพาะต่ำกว่า 2 ขวบไปสถานที่คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด เพราะเสี่ยงต่อการรับเชื้อ
  • การฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบได้

การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางรวมทั้งหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันและกำเริบและน้ำในหูชั้นกลางเรื้อรัง เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 30% ถึง 40% สำหรับโรคหูชั้นกลางและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 46% หากแม่ของพวกเขาสูบบุหรี่ ยิ่งไปกว่านั้นโรคหูในเด็กที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสน้อยที่จะแก้ไขได้เองมากกว่าในเด็กที่ผู้ปกครองไม่สูบบุหรี่ 

ที่มา
https://www.nakornthon.com/article/detail/โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก-เรื่องไม่เล็กที่ต้องป้องกัน
https://www.tobaccoinaustralia.org.au/chapter-4-secondhand/4-17-health-effects-of-secondhand-smoke-for-infants#x4.17.2

จากสุขสาระ ฉบับที่ 206 เดือนพฤษภาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น