วัยทอง เป็นวัยสำคัญของผู้หญิง เป็นช่วงแห่งความสำเร็จในชีวิตการงานและครอบครัว ถ้าคุณปล่อยให้ปัญหาสุขภาพมาบั่นทอนความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเข้าสู่วัยทอง หลายคนจะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เกิดอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด มีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุบริเวณช่องคลอด (อักเสบ แห้ง) รวมทั้งมีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น การใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยลดอาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นแต่ก็มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมมีมากมาย สาเหตุยังไม่ทราบชัดเจน แต่ที่ค่อนข้างแน่ชัดคือวิถีชีวิต รวมถึงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ การปรับเปลี่ยนบริโภคนิสัยอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้ หญิงอเมริกันมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมถึง 4 เท่าของหญิงชาวญี่ปุ่น ปัจจัยหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หญิงชาวญี่ปุ่นบริโภคถั่วเหลือง และ ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ
“ถั่วเหลือง” มีสารไอโซฟลาโวน หรือที่เรียกกันว่า “เอสโตรเจนของพืช” ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนของเพศหญิง แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า ไอโซฟลาโวนเหล่านี้อาจมีผลต่อการลดอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน และลดอาการของหญิงวัยหมดประจำเดือน รวมทั้งลดระดับไขมันในเลือดได้
นากาตะและคณะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองกับความถี่ของอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงญี่ปุ่น พบว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากทั้งในแง่ปริมาณรวมของถั่วเหลืองและไอโซฟลาโวนจะมีความถี่ของอาการร้อนวูบวาบน้อยกว่า
มีข้อที่น่าสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ มีรายงานระบุว่าไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า "ร้อนวูบวาบ" ในภาษาญี่ปุ่นเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าอาจเป็นผลของอาหารญี่ปุ่นที่ประกอบไปด้วยถั่วเหลือง ตรงนี้คงต้องถามข้อเท็จจริงผู้เชี่ยวชาญทางภาษาอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในออสเตรเลียที่พบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่บริโภคอาหารที่ทำจากแป้งถั่วเหลืองวันละ 1/2 ถ้วยทุกวัน อาการต่างๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนในมาเลเซีย จีนและสิงคโปร์มีอาการร้อนวูบวาบร้อยละ 57, 18 และ 14 ตามลำดับ
เมื่อเข้าสู่วัยทอง ยังพบปัญหาของโรคกระดูกพรุน “กระดูกพรุน” เป็นภาวะของการที่มีเนื้อกระดูกลดลงจะทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้ง่าย ปกติฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยชลอไม่ให้กระดูก สลายได้เร็ว ดังนั้น วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน จึงเป็นเป็นช่วงที่กระดูกเสื่อมเร็ว เราจะชะลอการเสื่อมของกระดูกได้ โดยกินอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การทดลองในหนูพบว่า จีนิสทีน (ไอโซฟลาโวนชนิดหนึ่ง)ให้ผลคล้ายยาประเภทเอสโตรเจนชื่อ พรีมาลิน (Premalin) สามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ โปรตีนถั่วเหลืองสามารถป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกที่เกิดจากขาดฮอร์โมนจากรังไข่ของหนูที่ถูกตัดรังไข่ทิ้ง สำหรับการศึกษาในคนนั้น แม้จะยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่า ไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเพื่อให้ได้รับไอโซฟลาโวนมากกว่าจะรับประทานเป็นเม็ดยา
การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ประชากรที่กินอาหารที่มีโปรตีนจากพืชสูงจะมีอุบัติการณ์ของการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและภาวะคลอเลสเตอรอลสูงในเลือดต่ำกว่าประชากรที่กินอาหารที่มีโปรตีนจากสัตว์สูง แอนเดอสันและคณะได้วิเคราะห์รายงานวิจัยทางคลินิก 38 เรื่องโดยข้อมูลบ่งชี้ว่า การกินโปรตีนถั่วเหลืองเฉลี่ย 47 กรัมต่อวันทำให้ระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดลดลงร้อยละ 9 แอลดีแอล-คลอเลสเตอรอลลดลงร้อยละ 13 ไตรกลีเซอไรด์ลดลงร้อยละ 10 เชื่อว่าเป็นผลจากไฟโตเอสโตรเจนโปรตีนถั่วเหลือง 60-70 % องค์การอาหารและยาของอเมริกา (FDA ) และสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกา (AHA)ได้แนะนำให้กินโปรตีนจากถั่วเหลือง 25 กรัม ต่อวันและให้โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่มี ไขมันอิ่มตัวและคลอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งอาจจะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ยังพบว่าสารสำคัญในถั่วเหลืองยังมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนในร่างกายและโรคหัวใจขาดเลือด มีรายระบุว่าผู้ชายญี่ปุ่นที่กินเต้าหู้มากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์มีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครึ่งหนึ่งของของคนที่กินเต้าหู้น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ คนญี่ปุ่นที่กินเต้าหู้มากมีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารต่ำ คนจีนที่กินถั่วเหลืองมากกว่า 5 กิโลกรัมต่อปีมีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารลดลงร้อยละ 40 หญิงจีนที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์มีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งมะเร็งปอดเป็น 3.5 เท่า และมะเร็งเต้านมเป็น 2 เท่าของหญิงจีนที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองทุกวัน
http://www.healthdd.com/article/article_preview.php?id=51 http://www.greenspotco.com/health_detail.php?ci=2
บทความมติชน ตอนที่ 14 ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ธ.ค. 46 โดย รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากสุขสาระ ฉบับที่ 206 เดือนพฤษภาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น