คัดเค้า เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทยแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวรใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นจากชื่อชนิด (species) ของคัดเค้าคือ SIAMENSIS ซึ่งแสดงว่าพบในสยามหรือในประเทศไทยนั่นเอง โดยจะพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณภาคต่างๆ หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า แต่ในปัจจุบันมีการนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือนหรือสวนสาธารณะมากขึ้น เพราะเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอม
คัดเค้ามี ชื่ออื่นๆหรือชื่อท้องถิ่นดังนี้ เค็ดเค้า (ภาคเหนือ) , คัดค้าว (ภาคกลาง) , คัดเค่า (ภาคอีสาน) , เขี้ยวกรจับ (ภาคใต้) , หนามลิดเก๊า (เชียงใหม่) , คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ) , พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี)
ประเภท: ไม้พุ่มรอเลื้อย ทอดเลื้อยได้ไกล 6 -8 เมตร
ลำต้น: เป็นเหลี่ยม มีหนามแหลมแข็ง ปลายโค้ง ยาว 1 เซนติเมตร เมื่ออายุมากขึ้น มีเนื้อไม้แข็ง
ใบ: ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปรี แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2 – 4 เซนติเมตร ยาว 5 – 12 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาสีเขียวอ่อน ผิวใบค่อนข้างมัน เนื้อใบเหนียว
ดอก: ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ตามซอกใบและปลายยอด ดอกย่อย 10 – 30 ดอก สีขาว เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปขอบขนานเกสรยาวเรียงสลับ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกบานอยู่ได้หลายวันก่อนเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวและร่วง ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน และหอมแรงช่วงพลบค่ำ ออกดอกเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์
ดิน: ชอบดินร่วนระบายน้ำดี
คัดเค้า ปลูกเลี้ยงง่าย ทนทาน หากปลูกเป็นกลุ่มควรให้แต่ละต้นอยู่ห่างกัน 2 เมตร คอยตัดแต่งกิ่งที่ยาวเกะกะ กิ่งแห้ง หรือเป็นโรคออกจะช่วยให้ทรงพุ่มโปร่งสวยงาม นิยมปลูกเป็นแนวรั้ว เพื่อกันขโมยเพราะมีหนามแหลม ปัจจุบันมีพันธุ์เตี้ยสูงเพียง 50 เซนติเมตร ซึ่งปลูกเป็นไม้กระถางได้ดี ใช้ผลต้มกับน้ำ ดื่มแก้อาการประจำเดือนมาผิดปกติ
ตำรายาไทย ทั้งต้น มีรสฝาด แก้เสมหะ และโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไข้ ใบ แก้โลหิตซ่าน แช่น้ำดื่มแก้ไข้ ราก มีรสเย็นฝาดเล็กน้อย แก้ไข้ และเลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ ดอก รสขมหอม แก้โลหิตในกองกำเดา แก้เลือดออกตามไรฟัน ผล รสเฝื่อนปร่า ปรุงเป็นยาต้มฟอกโลหิตระดูที่เน่าร้ายของสตรี เป็นยาขับประจำเดือน ฟอกเลือด บำรุงโลหิต ผลมีสารจำพวกไตรเทอร์ปีนซาโปนิน มีฤทธิ์เบื่อปลา ราก รสฝาดเย็น ช่วยขับเลือด แก้ไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน ขับลม รากและผล ขับระดู บำรุงโลหิต ขับฟอกโลหิต แก้ท้องเสีย รากหรือแก่น ฝนน้ำกินแก้ไข้ เปลือกต้น แก้เสมหะและโลหิตซ่าน รีดมดลูก แก้เลือดออกในทวารทั้งเก้า หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ ลดไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษไข้กาฬ แก่น ฝนน้ำรับประทานแก้ไข้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
1. เนื่องจากหลาย ๆ ส่วนของคัดเค้ามีสรรพคุณ ฟอกโลหิต ช่วยขับประจำเดือน ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร
2. ในการใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=211
https://www.disthai.com/17189499/%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2
จากสุขสาระ ฉบับที่ 207 เดือนมิถุนายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น