การสูบบุหรี่ถูกระบุเป็นครั้งแรกว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเมื่อหลายสิบปีก่อน การศึกษาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการสูบบุหรี่กับความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง การวิเคราะห์ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพกระดูกนั้นซับซ้อน เป็นการยากที่จะระบุว่าความหนาแน่นของกระดูกลดลงเนื่องจากการสูบบุหรี่เองหรือจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ ตัวอย่างเช่น ในหลายกรณี คนที่สูบบุหรี่มีร่างกายที่บางกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ มีแนวโน้มที่จะดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และรับประทานอาหารที่ไม่ดี ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ก็มักจะมีวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะกระดูกหักแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการรักษากระดูกที่หักอีกด้วย
สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้สูบบุหรี่สามารถทำได้เพื่อปกป้องกระดูก คือการเลิกสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่แม้ในช่วงหลังของชีวิตอาจช่วยลดการสูญเสียกระดูกได้
รับประทานอาหารที่สมดุล อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี:แหล่งแคลเซียมที่ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ผักใบเขียวเข้ม และอาหารและเครื่องดื่มเสริมแคลเซียม อาหารเสริมสามารถช่วยให้แน่ใจว่าคุณได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่แพ้นมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว สถาบันการแพทย์แนะนำให้บริโภคแคลเซียมวันละ 1,000 มก. (มิลลิกรัม) สำหรับผู้ชายและผู้หญิงอายุไม่เกิน 50 ปี ผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี และผู้ชายอายุเกิน 70 ปี ควรเพิ่มการบริโภคเป็น 1,200 มก. ต่อวัน
วิตามินดีมีบทบาทสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมและสุขภาพกระดูก แหล่งอาหารของวิตามินดี ได้แก่ ไข่แดง ปลาน้ำเค็ม และตับ หลายคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า อาจต้องการอาหารเสริมวิตามินดีเพื่อให้ได้รับปริมาณที่แนะนำคือ 600 ถึง 800 IU (หน่วยสากล) ในแต่ละวัน
ออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Exercise) เป็นการออกกำลังกำลังกายแบบหนัก เป็นการส่งแรงให้กระจายไปสู่กล้ามเนื้อและกระดูก กระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อและกระดูกได้ ส่งผลให้มวลกระดูกของเราแข็งแรง ทำให้ลดภาวะกระดูกพรุนได้นั่นเอง ออกกำลังกายแบบแรงต้าน ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น การยกเวต การวิดพื้น การปั่นจักรยาน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะไปรบกวนสมดุลแคลเซียมในร่างกาย ซึ่งแคลเซียมเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูก ยิ่งไปกว่านั้นแอลกอฮอล์ยังไปรบกวนกระบวนการผลิตวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญต่อกระดูกเพราะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการทรงตัว ซึ่งเราะทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนที่เมามักจะเดินไม่ตรง สูญเสียการทรงตัว และมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะหกล้มได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม การดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกแตกหัก การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย คือ กระดูกสะโพกแตกหัก กระดูกสันหลังแตกหัก เป็นต้น
https://www.bones.nih.gov/health-info/bone/osteoporosis/conditions-behaviors/bone-smoking#b
http://www.hitlifecare.com/index.php
https://boneandjointnopain.com
จากสุขสาระ ฉบับที่ 208 เดือนกรกฎาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น