ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้หญิงประมาณ 250 ล้านคนทั่วโลกผู้สูบบุหรี่ทุกวัน หรือ ประมาณ 22% ของกลุ่มประเทศพัฒนา และอีก 9 % ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่า
งานวิจัยระบุว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นสองเท่าในการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive lung disease/ COPD) ซึ่งรวมถึงอาการถุงลมโป่งพอง และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง แม้ว่าปริมาณการสูบบุหรี่จะเท่ากับผู้ชายก็ตาม เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่าถึง 22 เท่า
64% ของการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองเป็นผู้หญิง
การได้รับควันบุหรี่มีอันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ในแต่ละปี มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองถึง 430,000 ราย โดยร้อยละ 64 ของผู้เสียชีวิตเป็นหญิง ควันบุหรี่มือสองสำหรับผู้หญิงนั้นมีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ด้วยตนเองเสียอีก
การตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่พุ่งเป้าหมายไปที่ผู้หญิง
ในปี 1920 อุตสาหกรรมยาสูบเปิดแนวรุกโดยการอิงกระแสสิทธิสตรี ชูคบเพลิงแห่งอิสรภาพ หนุนให้ผู้หญิงสูบบุหรี่โดยไม่ต้องสนใจต่อคำเย้ยหยันของสังคมในสมัยนั้น สร้างกลยุทธทางการตลาดว่า “สูบบุหรี่แล้วไม่อ้วน” นำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นตัวเอง เป็นอิสระ สร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่นั้นดูเท่ น่าหลงใหล เพิ่มเทคนิคทางการตลาดในกลุ่มผู้หญิง พบว่ากลุ่มเลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล สูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงที่รักเพศตรงข้าม ในปี 2013 ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มรักร่วมเพศมีอัตราการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับหญิงรักเพศตรงข้าม ที่มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ร้อยละ 15.0
นอกจากนี้ยังได้นำบุหรี่รสอ่อน เข้าสู่ตลาดผู้หญิง ซึ่งบุหรี่รสอ่อนนั้นไม่ได้หมายความว่า มีสารพิษน้อยกว่าหรือปลอดภัยกว่า แต่การสูบบุหรี่ประเภทนี้ กลับทำให้ผู้สูบสามารถสูดหายใจได้ลึกขึ้นและถี่ขึ้น และรับปริมาณนิโคตินได้มากขึ้น ดังนั้น การสูบบุหรี่ประเภทนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยกว่า
ควันบุหรี่ส่งผลเสียต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความสามารถในการตั้งครรภ์น้อยลง และมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตขณะคลอด หรือเด็กเสียชีวิตตอนแรกเกิดสูงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพดังนี้ ลดความหนาแน่นของกระดูก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคหลอดเลือดหัวใจ ต้อกระจก โรคเหงือก แผลในช่องปาก ซึมเศร้า ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน มะเร็งในช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะและปากมดลูก หญิงหมดประจำเดือนที่สูบบุหรี่จะมีความหนาแน่นของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอีกด้วย
https://www.sanook.com/women/138761/
https://www.who.int/quantifying_ehimpacts/publications/shsarticle2010/en/
https://www.who.int/tobacco/en/atlas6.pdf
สุขสาระ ฉบับที่ 205 ออนไลน์
จากสุขสาระ ฉบับที่ 208 เดือนกรกฎาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น