วัยรุ่นกับยาสูบ

การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ว่าจะประเภทใดมักเริ่มต้นและเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา ย่อมเสี่ยงต่อการติดนิโคตินมากที่สุด 

ในสหรัฐอเมริกา เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ทุกวันเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุได้ 18 ปี และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีประมาณ 2,000 คนสูบบุหรี่ครั้งแรกทุกวัน

มีการคาดการณ์ว่าหากรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป การใช้ยาสูบตลอดชีวิตจะส่งผลให้เด็กและคนหนุ่มสาวเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่า นักเรียนเกือบหนึ่งในสี่ (อายุ 13-15 ปี) เคยสูบบุหรี่สูบมวนแรกก่อนอายุ 10 ขวบ 

มีปัจจัยหลายอย่างของการใช้ยาสูบในหมู่เยาวชน ซึ่งรวมถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและศาสนา ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทต่างๆ นโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขาย หรือการตัดราคา กลยุทธ์การโฆษณา การส่งเสริม และการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น ซึ่งมักจะมีอิทธิพลมากกว่าพฤติกรรมของผู้ใหญ่ 

ในปี 2536 ที่ฟิลิปปินส์ มีการโฆษณาที่แสดงภาพคาวบอยอายุน้อยในฐานะวีรบุรุษ โน้มน้าวให้เยาวชนสูบบุหรี่ 

สำหรับประเทศไทย มีรายงานในปี 2555 ระบุว่าโฆษณาชิ้นหนึ่งทำขึ้นเพื่อฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ โดยนักโฆษณาวางกลยุทธสร้างภาพฮีโร่ที่ดูเหมือนจะบอกให้สูบบุหรี่ในพื้นที่สูบบุหรี่ที่ได้รับอนุญาต แต่แฝงประเด็นเชิงค่านิยม โดยการแสดงภาพลักษณ์คนสูบบุหรี่เป็นนักบินอวกาศที่เมื่อสูบบุหรี่ในพื้นที่สูบแล้วแฟนสาวคนสวยจะชื่นชมและวิ่งเข้ามากอด ภาพยนตร์ฉายภาพของหนุ่มน้อยนักบินอวกาศในชุดสุดเท่ ดูมีเสน่ห์  มีแฟนสาวชื่นชมที่สูบบุหรี่เป็นที่เป็นทาง ชัดเจนว่าโฆษณานี้มุ่งเป้าไปที่วัยรุ่นชาย ที่อยากเท่ อยากมีเสน่ห์ และพร้อมที่จะสูบบุหรี่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงออกฉายในโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนหนุ่มสาวนิยม

ในปี 2562 บริษัทบุหรี่และยาสูบไร้ควันรายใหญ่ที่สุดใช้เงิน 8.2 พันล้านดอลลาร์ไปกับค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว

สมาชิกสภารัฐแคลิฟอร์เนีย Henry Waxman เปิดเผยว่าบริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ ดำเนินกลยุทธ์อย่างเป็นระบบในการดึงดูดวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 14 ปีให้มาสูบบุหรี่

สรุปแล้วเราคงต้องมาช่วยกันรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยของเรา มิให้ตกเป็นเหยื่อของสินค้าอันตราย ที่ทำร้ายผู้คนอย่างเลือดเย็น


ที่มา:
https://stopswithme.com/protecting-oklahoma/protecting-our-youth/
https://www.fda.gov/tobacco-products/public-health-education/youth-and-tobacco
https://www.who.int/tobacco/research/youth/youth/en/
https://tobaccocontrol.bmj.com/content/13/suppl_2/ii71
สุขสาระ พฤศจิกายน 2555

จากสุขสาระ ฉบับที่ 209 เดือนสิงหาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)  

ความคิดเห็น