โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบไปด้วยโรคหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง
สาเหตุสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่
• การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเนื่องจากในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารและแก๊สเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
• มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงการหายใจเอาสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกรณีที่มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี เช่น เหมืองถ่านหิน งานเชื่อมโลหะ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหารและขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ
• โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ผลิตในตับแล้วหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้ปอดถูกทำลายจากสารต่างๆ โรคนี้จึงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนวัยหนุ่มสาว สำหรับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ การขาด AAT จะเร่งให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพองเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักและมักพบในชาวยุโรปหรือชนชาติผิวขาวอื่นๆ
สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้แก่ การสูบบุหรี่ทั้งที่เป็นโรคหืด และอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พัฒนาอย่างช้า ๆ ดังนั้นกว่าที่จะตรวจพบโรค ผู้ป่วยก็มักเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว
อาการของโรคถุงลมโป่งพอง จะปรากฏเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มมีอาการไอ และมีเสมหะบ่อย ๆ มักจะเป็นมากในช่วงเช้า ซึ่งเป็นอาการของการที่มีพยาธิสภาพของหลอดลมอักเสบร่วม แต่อาการจะไม่เด่นเท่าผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยซึ่งจะค่อยๆรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อออกแรงใช้กำลัง ต่อมาแม้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว ก็ทำให้มีอาการเหนื่อยได้แล้ว จนกระทั่งสุดท้ายแม้อยู่เฉยๆ ก็มีอาการเหนื่อยได้ อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาจมีหายใจเสียงดังวี้ด ๆได้ หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
การป้องกัน ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ ป้องกันตัวเองจากมลพิษในอากาศและละอองสารเคมี และการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
http://www.magicbreath.org/ถุงลมโป่งพอง-emphysema/
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/chronic-obstructive-pulmonary-disease
จากสุขสาระ ฉบับที่ 209 เดือนสิงหาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น