"ความทุกข์ และทรมาน" ของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2560 คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 72,656 ราย ทำให้เกิดค่าสูญเสียจากเศรษฐกิจ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล 77,626 ล้านบาท ค่าขาดรายได้จากการเจ็บป่วย 11,762 ล้านบาท ค่าความสูญเสียจากการตายก่อนวัยฯ 131,073 ล้าน รวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 20,565 บาท ต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี

โดย 4 โรคร้ายที่เกิดจากบุหรี่ทำลายปอด ได้แก่ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง วัณโรค และโรคภูมิแพ้ ขณะที่ 5 อันดับแรกเสียชีวิตจากบุหรี่ ด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ และวัณโรค ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับความทุกข์ และทรมาน ของโรคถุงลมโป่งพอง หากเปรียบเทียบภาพให้เห็นอย่างชัดเจน ในระยะแรกจะมีความรู้สึกเหมือนไม่เป็นอะไรเลย แต่เมื่อโรคเดินหน้าไปสักระยะหนึ่ง คุณภาพการทำงานของปอดจะเริ่มเสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ เริ่มไอ มีเสมหะ จนเป็นเรื้อรัง

ถัดมา เริ่มมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งจะหอบเฉพาะเวลาออกแรงเยอะๆ เช่น จ็อกกิ้ง วิ่งมาราธอน หรือออกกำลังหนักๆ จากนั้นพอโรคเดินหน้าไปอีก อาการหอบเหนื่อยจะเป็นเร็วขึ้น แม้ไม่ได้ทำงานหนักก็จะรู้สึกเหนื่อยงาน เช่น เข้าห้องน้ำก็เหนื่อย ทำอะไรก็จะเหนื่อยง่าย เดินขึ้นบันไดก็เหนื่อย จนกระทั่ง จะนั่งเฉยๆ หรืออยู่นิ่งๆ ก็เหนื่อย สุดท้าย แม้นอนก็ยังรู้สึกเหนื่อยหอบ จนนอนไม่ได้!

ก่อนหน้านี้ เคยมีบันทึกภาพการสัมภาษณ์คนไข้รายหนึ่งซึ่งเป็นนายตำรวจ ที่เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุ 40 ปี ซึ่งตอนนี้เขาเสียชีวิตลงแล้ว แต่ได้พูดถึงอาการป่วยไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเขาบอกว่า เขาเสียดายชีวิตของตัวเองอย่างมาก เพราะตอนที่ป่วยอายุแค่ 40 กว่า มีอาการถึงขั้นที่ว่า นอนก็ยังเหนื่อย นอนไม่ได้ เพราะว่าเหนื่อยมาก และถ้าให้เลือกได้ ขอเลือกที่เป็นมะเร็งปอดดีกว่า ตายแน่นอน แต่ถุงลมโป่งพองนั้น ไม่รู้วันตาย ซึ่งทุก ๆ วันที่มีชีวิตอยู่ คือ วันที่ทรมาน  

คนไข้ถุงลมโป่งพองที่กำลังจะเสียชีวิต จะต้องเจอกับอะไรนั้น หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า "คนจมน้ำ" ตอนจมน้ำใหม่ ๆ นั้นเรี่ยวแรงยังมี ก็จจะตะเกียกตะกายให้พ้นน้ำด้วยตัวเอง โดยเอาปาก จมูกขึ้นมาเหนือน้ำได้เร็วและบ่อย เพื่อหายใจ เหมือนถุงลม ระยะแรก ๆ ที่ป่วย ก็เป็นเช่นนั้น แต่พอจมอยู่นานเข้า ๆ เรี่ยวแรงที่มีก็เริ่มน้อยลง เริ่มเหนื่อยล้า ระยะเวลาที่อยู่ใต้น้ำก็เริ่มนานขึ้น เช่นเดียวกับอาการป่วยที่ก้าวหน้ามากขึ้น เริ่มหายใจไม่ออก ในที่สุดก็ต้องอยู่ใต้น้ำ และรวมกำลังขึ้นมาเหนือน้ำ แบบนาน ๆ ครั้ง  และสุดท้ายเมื่อไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะพาตัวเองให้พ้นน้ำ ก็จะเสียชีวิต

การป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ไม่ได้กระทบเพียงแค่ "ผู้ป่วย" เท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงคนรอบข้างที่ต้องคอยดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต ที่กินเวลาหลายปี ซึ่งรวมถึงการสูญเสียรายได้อีกด้วย

การเลิกสูบบุหรี่ คือ หนทางที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเลิกสูบตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคแล้ว หรือตอนที่ยังไม่เกิดโรค เพราะบุหรี่ 1 มวน ทำให้อายุสั้นลง 7 นาที และทำให้โรคที่ป่วยอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น!


ที่มา:
https://www.hfocus.org/content/2020/01/18345
https://mgronline.com/qol/detail/9620000050363
https://www.thaihealth.or.th//Content/24452-เปิดชีวิตทนทุกข์ของ%20%60นักสูบ%60.html

จากสุขสาระ ฉบับที่ 210 เดือนกันยายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)  

ความคิดเห็น