โดยความเป็นจริง คำสอนของศาสนาอิสลามมีกำหนดข้อห้ามสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพ และที่เกี่ยวกับจริยธรรมกว้างขวางกว่าข้อกำหนดในกฎหมายมากมาย มีการกระทำบางอย่างที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดหลักการของศาสนาอิสลาม เช่นการดื่มสุรา การบริโภคสัตว์ที่ตายโดยไม่ผ่านการเชือด เป็นต้น
แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการสูบบุหรี่ กลับพบว่ามุสลิมยังพากันสูบบุหรี่กันมาก แม้ว่านักสูบหลายคนต่างเข้าใจกันดีว่า การสูบบุหรี่นั้นทำลายสุขภาพ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ยอมหยุดบุหรี่ จะด้วยเหตุใดก็ตาม “สุขสาระ” จึงขอนำคำฟัตวาจากต่างประเทศ และของประเทศไทยเองที่ยืนยันว่าการบริโภคบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดมาฝากเพื่อเป็นข้อเตือนใจกันและกัน
สำนักฟัตวาแห่งอียิปต์ อธิบายว่า “ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนถึงภยันตรายของการใช้ยาสูบที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะอิสลามมุ่งพิทักษ์รักษาสิ่งทั้งสอง”
อัลลอฮฺตรัสว่า "และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” (ซูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ อายะห์ที่ 29) และอัลลอฮฺตรัสว่า “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ” (บทอัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)
คณะกรรมการถาวรเพื่อการศึกษาวิจัยและฟัตวาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ชี้ขาดว่า การบริโภคยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด(หะรอม) การปลูกยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด และการค้ายาสูบก็ต้องห้ามเด็ดขาด เนื่องจากมีภยันตราย ซึ่งต้องห้ามตามนัยแห่งหะดีษของท่านนบี(ศ็อลฯ) ที่ว่า "ไม่มีการก่อความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่นและเนื่องจากเป็นสิ่งเลวหรือน่ารังเกียจ
ตามนัยแห่งอัลกุรอานที่ว่า “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย” (บทอัล-อะอฺรอฟ อายะห์ที่ 157)
สำหรับประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 02/2549 เรื่อง บุหรี่ โดยระบุว่า
“หลักการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับคือ ไม่อนุญาตให้มุสลิมรับประทาน หรือ ดื่มและเสพสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เสียชีวิตโดยเร็วหรือช้าก็ตาม เช่น ยาพิษทุกชนิด และสิ่งที่ให้โทษหรือที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยหลักฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า
"และท่านทั้งหลายอย่าทำลายชีวิตตนเอง เพราะอัลลอฮฺทรงปราณีพวกท่าน” (ซูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ อายะห์ที่ 29)
อัลลอฮฺตรัสว่า “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ” (บทอัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)
ประกอบกับหลักฐานจากอัลหะดีษที่ว่า "จะต้องไม่ทำความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น"
ดังนั้น อาศัยหลักการดังกล่าวเราถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เพราะเป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด ประกาศ ณ วันที่ 6 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับปฏิทินอิสลามวันที่ 6 เดือน ซอฟัร ฮ.ศ. 1427
จากสุขสาระ ฉบับที่ 209 เดือนสิงหาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น