บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ดั้งเดิมจริงหรือ

บุหรี่ไฟฟ้าถูกวางตลาดในฐานะทางเลือกใหม่ที่ "ปลอดภัย" แทนบุหรี่ทั่วไป มีรายงานผู้เสียชีวิต 68 รายและการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 2,800 ราย ทำให้เห็นชัดเจนว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป

บุหรี่ไฟฟ้ามาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็น e-cigarette เป็นแท่งกลมคล้ายบุหรี่ แบ่งเป็นส่วนของแบตเตอรี่และส่วนที่บรรจุขวดเล็กใส่ของเหลวเสริมกลิ่นหอมของดอกไม้และผลไม้ผสมกับนิโคติน หรือ vaping ที่ทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินโดยมีควันไอน้ำเข้าปอดและพ่นออกมาเหมือนควันบุหรี่ รวมไปถึงรุ่น "ทำเอง" ที่บางชนิดมีนิโคตินในระดับสูง บางชนิดมีกัญชาหรือเพียงแค่แต่งกลิ่นรส

รูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าถูกสร้างมาให้ดูทันสมัย ทำให้เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายกว่า ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างบุหรี่แบบดั้งเดิมกับบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องคือแบบหลังไม่มีตัวยาสูบ แม้ว่าบุหรี่แบบดั่งเดิมจะมีสารเคมีที่เป็นพิษ แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารเคมีที่เป็นพิษเหมือนกัน

ขณะที่การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งโรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากการสูบบุหรี่เป็นเวลาหลายสิบปี ในทางตรงกันข้าม ในปี 2562 เป็นที่ชัดเจนว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบ vaping อาจทำให้เกิดอาการชักและความเสียหายของปอดอย่างรุนแรงหลังจากผ่านไปเพียงปีเดียว หรืออาจน้อยกว่านั้น ตามรายงานของ CDC ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากความเสียหายของปอดที่เกิดจากการสูบ vaping  

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยในการสูบ vaping เยาวชนอายุ 13-24 ปีที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามักจะได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19

ตั้งแต่ปี 2552 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯได้ชี้ให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามี "ระดับที่ตรวจพบสารก่อมะเร็งและสารเคมีที่เป็นพิษซึ่งผู้ใช้อาจสัมผัสได้" ตัวอย่างเช่น ในตลับบุหรี่ไฟฟ้าที่วางตลาดว่า "tobacco- free" องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯตรวจพบสารพิษที่พบในสารป้องกันการแข็งตัว สารประกอบเฉพาะสำหรับยาสูบที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และสารเจือปนเฉพาะยาสูบที่เป็นพิษอื่น ๆ จากการตรวจสอบตลับบรรจุของเหลวจำนวน 42 ชิ้น พบว่ามีฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทราบกันว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ในปีพ.ศ. 2560 ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Public Library of Science Journal พบว่ามีระดับสารเบนซีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่รู้จักกันดีในไอระเหยที่ผลิตโดยบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ 

การศึกษาเบื้องต้นที่นำเสนอในการประชุมประจำปี 2561 ของ American Chemical Society พบว่าการสูบ vaping สามารถทำลาย DNA ได้ จากการตรวจสอบน้ำลายของผู้ใหญ่ 5 คนก่อนและหลังช่วงการสูบ vaping เป็นเวลา 15 นาที น้ำลายมีสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายเพิ่มขึ้น เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์และอะโครลีน ซึ่งอะโครลีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเกี่ยวข้องกับความเสียหายของดีเอ็นเอ ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ในที่สุด

Simah Herman วัย 18 ปี ต่อต้านการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหลังจากมีประสบการณ์ใกล้ตาย

บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันไม่ได้มีอยู่นานพอที่ศึกษาถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว น่าเสียดายที่หลายคน รวมทั้งวัยรุ่น รู้สึกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพในการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ปกติได้ การศึกษาขององค์การอาหารและยาแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีที่เป็นพิษบางชนิดเช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไป แม้ว่าจะไม่มีใบยาสูบก็ตาม มีหลักฐานว่าสารเคมีที่เป็นพิษบางชนิดสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อ DNA ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ที่สำคัญกว่านั้น รายงานของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการสูบ vaping เป็นข้อพิสูจน์ว่าการสูบ vaping อาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งแม้หลังจากผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ หนึ่งเดือนหรือเพียงหนึ่งปี


ข้อมูล
https://www.center4research.org/vaping-safer-smoking-cigarettes-2/
https://abcnews.go.com/US/teen-put-life-support-vaping-didnt-smoker/story?id=65522370
 
จากสุขสาระ ฉบับที่ 211 เดือนตุลาคม 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น