พบหมอจินตนา | โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

แพทย์หญิงจินตนา  โยธาสมุทร

อะหฺมัดเป็นชายอายุ 31 ปี ปกติเป็นคนแข็งแรง มีอาชีพกรีดยางอยู่จังหวัดปัตตานี วันหนึ่งเขามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ตาแดง แต่ไม่มีจุดเลือดออกในตาขาว ข้อมือ ข้อเท้าอักเสบ มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และคันตามผื่น เขาจึงไปพบแพทย์ 

แพทย์ได้ใช้เครื่องบีบรัดแขนจนแน่น ประมาณ 5 นาที เรียกว่า “tourniquet test” หลังปล่อยให้เลือดไหลตามปกติ พบว่ามีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งแพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก จึงขอเจาะเลือด เพื่อตรวจดูว่ามีเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดผิดปกติหรือไม่ 

หลังการตรวจเม็ดเลือดขาว, เกล็ดเลือด และภูมิคุ้มกันแล้ว แพทย์ได้กล่าวว่า “ผลการตรวจเลือดและน้ำเหลืองของคุณพบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดปกติ ภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อเชื้อไวรัสในน้ำเหลืองคู่มีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้สรุปได้ว่าคุณเป็นโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งมียุงลายบ้านและยุงลายสวนตัวเมียเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะดูดเลือดผู้ป่วยในช่วงที่มีไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไวรัสเดินทางเข้าไปในกระเพาะยุง เข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคน ไวรัสจึงผ่านทางน้ำลายของยุงไปยังคนที่ถูกกัดทำให้เกิดอาการภายใน 2-4 วัน คุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกำลังมีการระบาดของโรคนี้ หมอจะรับตัวคุณไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล  จะให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ และจะต้องรายงานโรคนี้ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคและสำนักงานระบาดวิทยา เพื่อให้มีกิจกรรมการสอบสวนโรค ให้มีการปฏิบัติตามสถานการณ์การเกิดโรคในพื้นที่ ตรวจสอบวินิจฉัยจากอาการทางคลินิก ประวัติสัมผัสโรค สอบสวนค้นหาที่มาของการติดเชื้อ การสัมผัสใกล้ชิดกับคนเดินทางมาจากพื้นที่ซึ่งกำลังมีการระบาด และสอบสวนหาความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไปยังพื้นที่อื่น ๆ” 

“โรคนี้เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรคโดยยุงลายได้ดูดเลือดผู้ป่วยในช่วงที่มีไข้ ดังนั้น การป้องกันโรคนี้ จะต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ให้นอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัดทั้งกลางวันและกลางคืน ให้กำจัดลูกน้ำยุงลาย กำจัดยุงตัวแก่ และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้มากที่สุด” แพทย์กล่าว

อะหฺมัดมีอาการดีขึ้นตามลำดับ หลังจากนอนพักในโรงพยาบาล 7 วัน เขาจึงขออนุญาตกลับไปพักผ่อนที่บ้านต่อไป

ที่มา
สุขสาระ ตุลาคม 2552

จากสุขสาระ ฉบับที่ 212 เดือนพฤศจิกายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น