เมื่อคุณไอเพราะบุหรี่

อาการไอ มีที่มาจากหลายสาเหตุ และสาเหตุที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ ล้วนทำให้เกิดอาการไอได้ ขณะเดียวกันอาการไอก็อาจเป็นสัญญาณบอกถึงการก่อตัวของโรคร้ายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง ยิ่งต้องระวังเพราะอาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงได้มาก

อาการไอโดยทั่วไปถ้าไม่รุนแรงจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด แต่ถ้าไอเรื้อรัง มีเลือดปน ร่วมกับมีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่ ต้องระวังโรคร้ายแรง อย่านิ่งนอนใจควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน 

เมื่อคุณสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดา หรือ บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ซิการ์ คุณจะสูดดมสารเคมีจำนวนมากเข้าสู่ทางเดินหายใจและปอด สารเคมีเหล่านี้ติดอยู่ในลำคอและปอดของคุณ การไอเป็นวิธีธรรมชาติของร่างกายในการล้างสารเคมีเหล่านั้น

อาการไอของผู้สูบบุหรี่มักจะมีเสียงที่แตกต่างจากการไอปกติ เกี่ยวข้องกับการหายใจเสียงดังฮืด ๆ อาการเริ่มต้นจากอาการไอแห้ง ๆ เป็นเวลานานตามมาด้วยอาการไอเรื้อรัง อาการไอของผู้สูบบุหรี่มักจะมีเสมหะอยู่มาก และอาจทำให้เสียงแหบและเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้อาการไอยังเป็นหนึ่งในสัญญาณและอาการของโรคมะเร็งปอดอีกด้วย

ปัจจุบันพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปอด โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักดังนี้ ระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และปริมาณที่สูบ ลักษณะการสูบ โดยเฉพาะกลุ่มที่สูบแบบเต็มปอด คือสูบแบบสูดเอาควันเข้าไปในปอดเต็มที่ ชนิดของบุหรี่ บุหรี่แต่ละชนิดจะมีสารนิโคตินในบุหรี่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้สูบบุหรี่ทุกคนที่จะมีอาการไอ แต่มีแนวโน้มสูงในหมู่ผู้สูบบุหรี่เป็นเวลานาน ทั้งนี้ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ถึง 10 เท่าของผู้ไม่สูบบุหรี่

อาการไอนำไปสู่โรคต่างๆ ได้อีกหลายโรค ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อในหลอดลม วัณโรค ถุงลมโป่งพอง หรือหอบหืดก็มีอาการไอร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไอเรื้อรัง อาจพบว่ามีภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งหากรักษาช้าจะเกิดโรคแทรกซ้อน และส่งผลให้การหายใจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการไอของผู้สูบบุหรี่คือการลดปริมาณที่คุณสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่โดยทันที



ข้อมูล
https://www.verywellhealth.com/smokers-cough-symptoms-and-causes-2248937
https://www.medicalnewstoday.com/articles/318931
https://www.healthline.com/health/smokers-cough#causes
https://www.vejthani.com/ th/2018/01/ไอเรื้อรัง-ระวังปอดพัง/

จากสุขสาระ ฉบับที่ 212 เดือนพฤศจิกายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 

ความคิดเห็น