กัลยาณา
“ริมคลอง” ฉบับนี้ มีสมุนไพรท้องถิ่นชนิดหนึ่งมาแนะนำคือ หนุมานนั่งแท่น มีชื่อพื้นเมืองภาคกลางเรียก ว่านเลือด ภาคตะวันตกเรียก หัวละมานนั่งแท่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Pagada Plant ชื่อพฤกษศาสตร์ Jotropha podagrica Hook วงศ์ Euphorbiaceae พืชชนิดนี้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชีย และในเขตร้อนชื้นทั่วไป ใช้เป็นไม้ประดับได้เนื่องจากมีลักษณะลำต้นที่สวยงาม ลักษณะลำต้นคล้ายต้นปาล์มแชมเปญ เป็นไม้ที่เลี้ยงง่ายเจริญงอกงามดี เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ใบคล้ายใบตำลึงแต่ใหญ่กว่า มีแฉก 5 แฉก แต่ละแฉกไม่ลึกมาก มีก้านใบคล้ายกับก้านใบมะละกอแต่เล็กกว่า ก้านใบไม่มีรูเหมือนก้านใบมะละกอ ลักษณะดอกมีก้านยาวขึ้นมาจากยอด มีสีแดงเข้ม ดอกมีกลีบดอกเล็กมาก ลักษณะของดอกที่ยังไม่บานจะเหมือนหัวไม้ขีดไฟ เมื่อดอกบานจะเห็นเกสรอยู่เป็นกลุ่มกลางดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เมื่อดอกได้รับการผสมจะเจริญกลายเป็นผลออกมาคล้ายผลฝิ่นแต่เล็กกว่า มีเมล็ดอยู่ภายในเมื่อผลแก่จัดเมล็ดจะแตกออกมา และดีดตัวออกไปได้ไกลถึง 1-2 เมตร ซึ่งขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
หนุมานนั่งแท่นมียางสีใสข้น เมื่อยางไหลออกมาถ้ายางแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ายหยดเลือด น้ำยางใสมีประโยชน์ในการรักษาแผลทุกชนิด เช่น แผลเนื้องอกจะรักษาได้ผลดีมาก จากการทดลองพบว่าจะช่วยรักษาแผลให้หายเร็วกว่าการรักษาด้วยยาทางการแพทย์ปัจจุบัน และแผลจะไม่ค่อยเป็นแผลเป็น นอกจากนี้ยังใช้รักษาฝี แผลมีดบาดซึ่งช่วยในการห้ามเลือดได้ดีอีกด้วย
ในปัจจุบันได้มีการทดลองนำหนุมานนั่งแท่นไปใช้ในการรักษาแผลต่างๆ ในสัตว์ใหญ่ เช่น ม้า จากผลการรักษาเห็นว่า แค่ป้ายแผลด้วยยางหนุมานนั่งแท่นเท่านั้น แผลก็จะหายได้อย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ ซึ่งต้องไปขูดแผล ตัดแต่ง หรือจี้ด้วยเหล็กเผาไฟร้อน ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่สัตว์มาก
อย่างไรก็ตาม การนำภูมิปัญญาที่มีอยู่ของคนไทยมาใช้เป็นประโยชน์ จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูล ค้นคว้าทดลอง หลักการรักษาแผล การใช้ยาฆ่าเชื้อโรคใส่แผลนั้นจะต้องพิจารณาถึงการต้านทานของเชื้อโรคต่อยาที่ใช้ ความแรงของยาที่ใช้จะต้องคำนึงถึงการแพ้ยาของสัตว์ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรต่างๆ และเพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป
ที่มา สุขสาระ -ตุลาคม 2552
จากสุขสาระ ฉบับที่ 212 เดือนพฤศจิกายน 2564
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น