แนะนำ....โครงการสุขภาวะดี ตามวิถีมุสลิม

ดาวุด ทับอุไร

ประชากรมุสลิมไทยมีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าคนไทยทั่วไปในหลายด้าน ตั้งแต่การบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจ ความยากจน การศึกษา และปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพบางปัจจัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้มีมากไม่เท่ากันในทุกพื้นที่ 

โครงการสุขภาวะดี ตามวิถีมุสลิม ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและช่องทางในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับมุสลิมไทย เพื่อลดช่องว่างของคุณภาพชีวิตและสุขภาวะภายในกลุ่มมุสลิมไทย (Within group inequality) ระหว่างมุสลิมไทยกับประชากรไทยทั่วไป (Between group inequality) ให้แคบลง โครงการได้นำหลักคำสอนทางศาสนามาขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ โดยจะขยายผลผ่านทุนเดิมที่เคยพัฒนาไว้ก่อนหน้า อาทิ  เครือข่ายมัสยิดครบวงจร ต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ ชุมชนรักษ์สุขภาวะ และศิษย์เก่า สสม. (ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน สตรีต้นแบบ) การดำเนินงานจะหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐในชุมชนมุสลิม โดย จะประสานงานกับองค์กรศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และพัฒนาแนวทางเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาวะในชุมชนมุสลิมไทย และระหว่างมุสลิมไทยกับคนไทยกลุ่มอื่น

โครงการฯ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อสร้างต้นแบบกลไกการจัดการปัญหาสุขภาวะมุสลิมไทย โดยการพัฒนามาตรการชุมชนตามวิถีมุสลิม ที่จะสามารถขยายผลได้ในระดับจังหวัด 2) เพื่อให้ได้องค์กรพันธมิตรและหนุนเสริมให้สามารถบริหารจัดการกองทุนซะกาตเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของมุสลิมไทยในระดับภูมิภาค  และ 3) เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมุสลิมไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างมุสลิมไทยกับคนไทยกลุ่มอื่น และระหว่างมุสลิมไทยด้วยกัน

กลไกการดำเนินงาน ประการแรก จะสร้างต้นแบบกลไกการจัดการปัญหาสุขภาวะชุมชน เน้นการผลักดันส่งเสริมบทบาทและศักยภาพเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน มุสลิมะฮฺต้นแบบ ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะจากการอบรมของโรงเรียนผู้นำ สสม. ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาสุขภาวะชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบ โดยจัดตั้งสภาชูรอ (สภาผู้นำชุมชนวิถีอิสลาม) ให้สามารถสร้างกลไกการขับเคลื่อนบรรเทาปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสุขภาวะตามวิถีมุสลิมในการดูแลด้านสุขภาพและด้านอื่น ๆ รวมถึงการจัดการเชิงระบบในการวางแนวทางปฏิบัติการป้องกันโรคอุบัติใหม่ของชุมชน 

ทั้งนี้จะนำเสนอแผนการจัดการสุขภาวะชุมชน และแนวทางปฏิบัติการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคู่มือการจัดการศพตามวิถีอิสลาม จะส่งต่อองค์กรศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ดำเนินการ

ประการที่สอง จะสร้างองค์กรพันธมิตรระดับภูมิภาค 3 ภูมิภาค ให้เป็นแกนหลักในการสร้างกระบวนการการบริหารจัดการกองทุนซะกาตให้แก่ภาคีกองทุนซะกาต (ลูกข่าย) เบื้องต้นได้กำหนดให้องค์กรพันธมิตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน  ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งมีอัตราความยากจนของมุสลิมไทยสูงกว่าพื้นที่อื่น

ประการที่สาม คือ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตมุสลิมไทย แบ่งออกเป็น  2  ฉบับ ใน 2 ประเด็นได้แก่ 1) รายงานวิจัยการศึกษาปรียบเทียบโครงสร้างรายได้รายจ่ายมุสลิมไทย ปี พ.ศ. 2560 และ  2562 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ใหม่กว่าฐานข้อมูลเดิม ที่ สสม. ได้ทำมาแล้ว และไม่มีองค์กรอื่นทำไม่ว่าในระดับชาติหรือในสังคมมุสลิมไทย 2) รายงานวิจัยการศึกษาปัญหาความไม่เท่าเทียมภายในกลุ่มมุสลิมไทย  และระหว่างมุสลิมไทยกับประชากรกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นมุมมองใหม่ที่ยังขาดแคลนงานวิจัย

ทั้งหมดนี้จะดำเนินการทบทวนวรรณกรรม งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมไทย และการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นปัญหามุสลิมไทยอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อมุสลิมไทยต่อไป

ประการสุดท้าย คือ การใช้เครือข่ายสื่อออนไลน์ในเว็บไซต์ของ YouTube ช่อง “นายสร้างสุข” และสื่อออนไลน์อื่น ๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อสื่อสารปัญหาสุขภาวะ ในกลุ่มมุสลิมไทย พร้อมกันนี้จะจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาไทย และภาษาอื่น ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ อาทิ โปสเตอร์ สติกเกอร์  และสื่ออื่น ๆ ตามความเหมาะสม ส่งต่อไปยังมัสยิดและชุมชน 


สุขสาระออนไลน์ฉบับที่ 213 
เดือนกันยายน 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น