บุหรี่กับโรคหอบหืด

โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย จึงเกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง อาจมีอาการไอ และเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

อาการของโรคหอบหืดหรือโรคหืด ไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงหวีด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากอาการหนักอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้  เกิดระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิต ในที่สุด

สาเหตุของโรคหืด โรคหืดหรือหอบหืดเกิดจากการอักเสบของหลอดลมเรื้อรัง ร่วมกับการที่หลอดลมมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรคหืด ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในและนอกครัวเรือน เช่น ฝุ่น และไรฝุ่น รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ รวมทั้งสารก่อมลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ ไอระเหยน้ำมัน สารเคมี ก๊าซพิษต่าง ๆ เป็นต้น หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ด้วย

ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ปราศจากความชื้น จะกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการหอบหืดกำเริบได้

ควันบุหรี่ เป็นต้นเหตุการทำร้ายคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ โดยทำให้อาการฟื้นตัวได้ช้า หรือส่งผลให้อาการป่วยแย่ลงได้

มีรายงานระบุ “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์” ซึ่งนำไปสู่การเข้ารับการรักษาฉุกเฉินของเด็ก คือ สภาวะแวดล้อมของผู้ป่วยและครอบครัวจากควันบุหรี่ภายในบ้าน โดยมีการสูบบุหรี่ในบ้านมากถึง 45%

ถ้ารอบตัวเรารายล้อมไปด้วยสมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่ อาการหอบหืดที่เป็นอยู่จะกำเริบมากขึ้นและจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยควันบุหรี่จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม ตีบ และติดเหนียวไปด้วยเสมหะ ดังนั้น การสูบบุหรี่จะทำให้อาการหอบหืดกำเริบถี่ขึ้น มีอาการรุนแรงขึ้น และควบคุมอาการได้ยาก แม้จะมียารักษาก็ตาม

เลิกบุหรี่ ดีที่สุด คือคำแนะนำ เพื่อคุณและคนใกล้ชิด 


ข้อมูล
https://hd.co.th/smoking-and-asthma
https://www.rama.mahidol.ac.th/article/โรคหอบหืด-โรคทางเดินหาย/
https://www.hfocus.org/content/2019/07/17356

สุขสาระออนไลน์ฉบับที่ 214 
เดือนตุลาคม 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น