สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปี และเชื่อได้ว่าเกือบทุกครอบครัว จะต้องมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน
การเตรียมความพร้อมในด้านความรู้ ข้อมูล หรือวิธีการดูแลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวาน โดยมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนที่รู้ตัวและได้รับการรักษา และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ควบคุมไม่ได้ก็มีจำนวนไม่น้อย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยารักษาเป็นประจำและต่อเนื่อง
ผู้ที่ต้องใช้ยาเป็นประจำควรมี “สมุดบันทึกยา” พกไว้ติดตัว เพื่อบันทึกรายการยาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้จาก โรงพยาบาล ร้านยา คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สถานพยาบาลอื่นๆ ในสมุดบันทึกยา ควรมีการบันทึกรายละเอียดที่สำคัญของผู้ป่วยไว้ เช่น อายุ น้ำหนักตัว ส่วนสูง รวมทั้งประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
จากข้อมูลในสมุดบันทึกยาจะช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกร สามารถส่งต่อข้อมูลเรื่องยา และเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโดยไม่มีปัญหากับยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการได้รับยาซ้ำซ้อน ยาตีกันหรือแพ้ยาซ้ำ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในภาวะฉุกเฉิน สมุดบันทึกยาที่พกติดตัวไว้ ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสไปรับการรักษาในสถานพยาบาลเดิม สามารถรับยาจากหน่วยบริการอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีสมุดบันทึกยา หรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาที่รับประทานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือมียาชนิดใดที่ตีกันหรือไม่จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
นอกจากนี้ ควรมีการบันทึกรายการยา สมุนไพร อาหารเสริม ที่ผู้ป่วยหาซื้อมาใช้เองเพิ่มเติม เพื่อให้มีบันทึกยาที่สมบูรณ์พอที่จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันอันตรายจากยาและช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างแท้จริง
เดือนพฤศจิกายน 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น