พ.ญ.จินตนา โยธาสมุทร
จัสมินเป็นหญิงอายุ 17 ปี เป็นคนผอมแห้ง มีอาการหอบเหนื่อยขณะออกกำลัง มีอาการไอและลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยในเวลากลางคืน แต่ยังไม่มีไอปนเลือด มานานประมาณ 1 เดือน แม่จึงพาไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์ได้ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว พบว่าเธอมีเท้าบวม หน้าแข้งบวม ตับโต ชีพจรค่อนข้างเบาไม่สม่ำเสมอ (atrial fibrillation) คลำได้แรงกระแทกของหัวใจโตมาทางด้านซ้าย คลำได้ความสั่น (thrill) บริเวณหน้าอกด้านซ้าย ฟังได้เสียงฟู่กลางไดแอสโตล (mid diastolic rumbling murmur) บริเวณด้านซ้ายของกระดูกอกส่วนล่าง ได้ยินเสียงหนึ่งและการเปิดของลิ้นไมตรัล (opening snap) ชัดเจนบริเวณด้านซ้ายของกระดูกอกส่วนล่าง จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบมีหัวใจห้องบนซ้ายโต หัวใจห้องล่างขวาโต และหัวใจเต้นผิดปกติชนิด (atrial fibrillation) จากการตรวจภาพรังสีทรวงอก พบหัวใจห้องบนซ้ายโต หัวใจห้องล่างขวาโต เห็นหลอดเลือดพัลโมนารี (pulmonary artery) ชัดเจน
หลอดเลือดบริเวณขั้วปอดโตขึ้น และหลอดน้ำเหลืองบริเวณชายปอดมีขนาดโตขึ้น จากการตรวจภาพเสียงสะท้อนหัวใจ echocardiography พบกลีบของลิ้นไมตรัลหนาตัวขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากหินปูนหรือพังผืดมาเกาะ ทำให้มีการเคลื่อนไหวของลิ้นลดลงและมีหัวใจห้องบนซ้ายโต
แพทย์อธิบายว่า “ลิ้นหัวใจไมตรัลเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและหัวใจห้องล่างซ้าย ทำหน้าที่เสมือนประตูปิดเปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายกลับไปยังหัวใจห้องบนซ้าย โรคลิ้นหัวใจพิการซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง มีสาเหตุมาจากโรคไข้รูมาติกขณะอยู่ในวัยเด็ก จึงเกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ในกรณีของลูกคุณนั้นอาจมีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ ซึ่งปกติแล้วมักไม่มีอาการ จนกว่ารูเปิดของลิ้นไมตรัลจะลดแคบลงกว่าปกติประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้เลือดที่ไหลเข้าหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สะดวก ความดันในหัวใจห้องบนซ้ายจึงสูงขึ้น แต่จะต้องตรวจให้ละเอียดด้วยการสวนหัวใจและฉีดสารทึบรังสีเข้าในหัวใจห้องล่างซ้าย ว่ามีลิ้นไมตรัลรั่วร่วมด้วยหรือไม่”
หลังจากสวนหัวใจและการฉีดสารทึบรังสี พบว่าจัสมินมีลิ้นไมตรัลตีบอย่างเดียว ไม่มีลิ้นไมตรัลรั่ว ซึ่งแพทย์ได้ให้การรักษาทางยาไปก่อน โดยให้ยาควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาภาวะหัวใจวาย ยาป้องกันโรคติดเชื้อ และยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการออกกำลังเกินควร งดสูบบุหรี่ และนัดตรวจติดตามดูเป็นระยะ ๆ เพื่อวางแผนการรักษาที่ได้ผลแน่นอน ด้วยการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจต่อไปในอนาคต
สุขสาระออนไลน์ฉบับที่ 215
เดือนพฤศจิกายน 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น