ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อปัญหาอื่นๆ เช่น การศึกษา วิถีชีวิต รวมถึงปัญหาสุขภาพของคนจนผ่านความไม่พอเพียงในการบริโภคสารอาหารที่จำเป็น และการเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็น จากการศึกษาข้อมูลของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) พบว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของมุสลิมไทยด้อยกว่าคนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะมองที่รายได้ ทรัพย์สิน หรือปัญหาความยากจนซึ่งมุสลิมไทยที่ตกอยู่ในความยากจนมีอัตราสูงเกือบสองเท่าของคนไทยโดยทั่วไป
“ซะกาต” เป็นคำภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า “การขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์” “การเพิ่มพูน” และ “ความเจริญงอกงาม”
ซะกาต (การบริจาคทานภาคบังคับ) เป็นบทบัญญัติข้อหนึ่งในศาสนาอิสลามที่มุสลิมต้องปฏิบัติ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคมมุสลิม เพราะซะกาตเป็นทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วนจากจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มาจนครบพิกัดที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ให้ และนำทรัพย์จำนวนนั้นจ่ายออกไปให้แก่บุคคล 8 ประเภท (1.คนขัดสน ที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้ จ่าย 2.คนยากจน ที่ไม่มีทรัพย์สินและไม่มีรายได้ 3. มุอัลลัฟ ผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่ หรือผู้ที่สนใจอิสลาม 4.ทาสหรือเชลยศึก ที่ต้องการไถ่ตัวเองให้เป็นไท 5. ผู้ที่เป็นหนี้สิน และไม่มีความสามารถในการชดใช้ 6.ผู้อุทิศตนเพื่อพระเจ้าทำงานเพื่อส่วนรวม เช่น นักเรียน ครู นักปราชญ์ นักวิชาการ และผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล 7. คนเดินทาง ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น ที่ต้องการความช่วยเหลือ 8.เจ้าหน้าที่ดูแลและจัดเก็บซะกาต) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับซะกาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ถูกบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนา
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ในระดับชาติได้ผลักดันให้มีการวิจัยที่นำมาสู่การยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดเก็บและการจ่ายซะกาต โดยมีสำนักงานส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ซี่งเป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่กองทุนซะกาตในระดับต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและการประชาพิจารณ์ จนกระทั่งถูกบรรจุในวาระที่ 1 ของรัฐสภาแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะความขัดแย้งและความหวาดระแวงทางการเมือง หลังจากนั้น สสม. จึงหันมาส่งเสริมกองทุนซะกาตในระดับชุมชน จนกระทั่งเกิดกองทุนซะกาตในหลายชุมชนและจังหวัด ซึ่งโดยแนวทางนี้ คงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานจึงจะเกิดความสำเร็จในระดับประเทศ
ที่ผ่านมา สสม. ได้ใช้กลยุทธ์ “สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง” ผลักดันการจัดตั้งกองทุนซะกาตในระดับชุมชน โดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และพัฒนาในทุกรูปแบบ ผ่านโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ โครงการมัสยิดครบวงจร ที่มีการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมมุสลิมผ่านระบบซะกาต ดำเนินงานร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการศาสนา มีต้นแบบกองทุนซะกาตที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและมีระบบการบริหารที่ดีอย่างน้อย 6 กองทุน อาทิ กองทุนซะกาตมัสยิดดาหรนอาหมัน อ.สะเดา จ.สงขลา กองทุนซะกาตมัสยิดดารุลฮูดา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กองทุนซะกาตมัสยิดบ้านกลาง จ.นครศรีธรรมราช กองทุนซะกาตมัสยิดบางอ้อ กรุงเทพฯ กองทุนซะกาตบัยตุ้ลมาล จ.เชียงใหม่ และกองทุนสวัสดิการชุมชนปาตาบาระ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่ง 6 กองทุนนี้สามารถรวบรวมเงินซะกาตเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต และผู้ด้อยโอกาสตามหลักการศาสนา จำนวน 2.348 ล้านบาท ในปี 2557 และเติบโตมาโดยตลอด การจัดตั้งกองทุนซะกาตและแจกจ่ายซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต ได้ช่วยกลุ่มเป้าหมายให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการนำซะกาตที่ได้รับมาเป็นทุนในการประกอบอาชีพและใช้จ่ายในครอบครัว รวมทั้งให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจนขัดสน จึงช่วยฟื้นฟูชีวิตครอบครัวของผู้ได้รับซะกาตให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถปลดหนี้ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค เป็นการขยายผลจากโครงการมัสยิดครบวงจร โครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค ที่สามารถส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนซะกาตในระดับชุมชนหรือมัสยิด สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างกองทุนภายในเครือข่าย และระหว่างเครือข่ายด้วยกัน โดยการร่วมมือ เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ดังนั้นการสนับสนุนองค์กรพันธมิตรที่จะร่วมเป็นแกนหลักในการสร้างเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาคที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน จะช่วยยกระดับการดำเนินงานให้สามารถบรรเทาปัญหาความยากจนในกลุ่มมุสลิมไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยจะสนับสนุนให้ต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. ที่ประสบความสำเร็จ ได้ถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการกองทุนซะกาต รวมถึงแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์จากการทำงาน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับองค์กรพันธมิตรและภาคีกองทุนซะกาต (ลูกข่าย) นำไปขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในระดับชุมชน และส่งต่อรูปแบบระบบการบริหารกองทุนให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรมุสลิม องค์กรศาสนา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน เป็นฟันเฟืองในการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเมื่อระบบนี้สามารถดำเนินไปได้เต็มรูปแบบ มีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ ก็จะทำให้ปัญหาความทุกข์ยากภายในสังคมมุสลิมน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด
โครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาคดำเนินการใน ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ภาคใต้ตอนล่าง (ปัตตานี) ภาคใต้ตอนกลาง (สงขลา ตรัง) และภาคใต้ตอนบน (ระนอง) ซึ่งมีข้อมูลชี้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีอัตราความยากจนสูงสุดในมุสลิมไทย พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายการสร้างภาคีเครือข่ายระดับภูมิภาคของ สสม. และมีองค์กรพันธมิตรที่ร่วมผลักดันให้เกิดกองทุนซะกาตในพื้นที่จำนวน 4 องค์กร ได้แก่
- สมาคมชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจ.ปัตตานี
- สมาพันธ์ผู้บริหารมัสยิด 4 อำเภอ จ.สงขลา (จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย)
- ชมรมมุสลิมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง
- คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนอง
และมีต้นแบบกองทุนซะกาต สสม.จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- กองทุนซะกาตมัสยิดดาหรนอาหมัน อ.สะเดา จ.สงขลา
- กองทุนซะกาตมัสยิดดารุลฮูดา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
- กองทุนซะกาตมัสยิดบ้านกลาง จ.นครศรีธรรมราช
- กองทุนซะกาตมัสยิดบางอ้อ จ.กรุงเทพฯ
- กองทุนซะกาตบัยตุ้ลมาน จ.เชียงใหม่
ตอฮิดร์ สายสอิด-ราบงาน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น