สภาชูรอ (สภาผู้นำชุมชนวิถีอิสลาม)

สุทธิดา วิชัยชาติ

จากสภาพโครงสร้างการจัดการชุมชนมุสลิมปัจจุบัน ที่มีหลายโครงสร้างซ้อนทับกันอยู่และมีการแบ่งออกเป็นส่วน ๆ คือ ฝ่ายศาสนา อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นและกรรมการมัสยิด ฝ่ายปกครอง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน ฝ่ายท้องถิ่น อบต./เทศบาล เป็นองค์กรด้านการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ อีก เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น การมีโครงสร้างหลายองค์กรแบบนี้ ทำให้เกิดการมองเฉพาะงานของตัวเอง ขาดการมองภาพรวมทั้งชุมชน หรือบางครั้งอาจจะมีแนวทางการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันได้ 

แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาวะของชุมชนมุสลิมอย่างยั่งยืน ต้องให้ประชาชนเป็นหลักและมีส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการค้นหาประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมของคนในชุมชน เพื่อสร้างกิจกรรมพัฒนาที่ก่อให้เกิดการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนร่วมรับผลประโยชน์และร่วมกันติดตามความก้าวหน้า เป็นกระบวนการคลี่คลายปัญหาอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรมและศาสนา สุดท้ายประชาชนในชุมชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ 

คำว่า “อัชชูรอ” “الشورى” (ภาษาอาหรับ) al shura (ภาษาอังกฤษ) หมายถึง การปรึกษาหารือกัน เป็นถ้อยคำที่กล่าวไว้ในบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเล่าถึงแนวทางการปฏิบัติงานในองค์กรว่าควรใช้หลักการบริหารแบบปรึกษาหารือกัน เพราะฉะนั้น “สภาชูรอ” จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายเข้ามาประชุมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน การคัดเลือกความคิดเห็นที่มีการเสนอที่หลากหลายในปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยสมาชิก เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายที่ดีกว่า และได้ปฏิบัติตามหลักการศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการจัดการชุมชนให้เป็นที่พอใจ โปร่งใสรับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ในโองการหนึ่ง ความว่า “และเจ้าจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด (อัลกุรอาน 3 : 153) 

อิสลามได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือ เพราะเป็นการตักเตือนซึ่งกันและกัน การแสดงแนวคิด ความคิดเห็นที่แต่ละคนมีอยู่ให้คนอื่นได้รับทราบ การประชุมเพื่อปรึกษาหารือจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นหลักการที่สำคัญในการคลี่คลายประเด็นปัญหา อิสลามได้กำชับให้มุสลิมมีการปรึกษาหารือในทุกกิจการ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง หลักการมีส่วนร่วมนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบริหารที่อิสลามได้เริ่มใช้พันกว่าปีมาแล้ว ทั้งที่ในสมัยนั้นประชาชนไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและไม่ได้รับโอกาสให้คำปรึกษาแก่ผู้นำเลย 

การดำเนินโครงการชุมชนสุขภาวะดี ตามวิถีอิสลาม ต้องผลักดันให้เกิดองค์คณะหนึ่งที่ดูแลในเรื่องการจัดการชุมชน มีการกำหนดบทบาทและข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน มีการปรึกษาหารือกันทุกฝ่าย เรียกว่า “สภาชูรอ” โดยมี 4 เสาหลักได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา อบต. และผู้นำธรรมชาติ ตลอดจนกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เป็นชูรอ (ที่ปรึกษาสูงสุด) ของชุมชน เป็นกลไกการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการบริหารจัดการชุมชนทั้งระบบตามวิถีอิสลาม สภาชูรอมีหลักการที่เชื่อมประสานกลุ่มองค์กรทั้งหลาย ให้เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาค สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยใช้แนวทางที่มีการบัญญัติไว้ในศาสนาเป็นแกนเชื่อมโยง เป็นหลักการอันหนึ่งในวิถีวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งการที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมปรึกษาหารือกัน จะทำให้มองเห็นภาพรวมร่วมกัน การชูรอ (ประชุม) มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการชุมชน เพื่อรับรู้ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ให้เกิดการเปรียบเทียบและเลือกแนวทางที่ดีที่สุด ทำให้ได้รับรู้ข้อดีข้อเสียจากผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในประเด็นที่หารือกันอยู่ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการตัดสินใจของผู้นำ จากการใช้อารมณ์ส่วนตัวหรือเหตุผลที่ไม่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ 

ซึ่งหลักการนี้ช่วยลดปัญหาความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพราะชาวบ้านสามารถสื่อสารกันอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ยังเป็นการพึ่งพาตนเอง ประชาชนได้คิดเอง แก้ปัญหาเองโดยไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในเชิงสงเคราะห์ ไม่ได้สร้างสติปัญญาและพัฒนาความสามารถของประชาชนเท่าใดนัก ทำให้ประชาชนเอาแต่ร้องขอและรอความช่วยเหลือจากที่อื่นตลอดเวลาแก้ปัญหาตนเองไม่ได้ ซึ่งวิธีการที่ได้ผลต้องมีการรวมกลุ่มและมีการสร้างกิจกรรมกลุ่มที่มีการพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถต่อยอดกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่งได้ และพยายามใช้ทุนเดิมในท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มมูลค่า โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ใช้หลักศาสนาและสร้างสังคมพอเพียง ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของมุสลิมมากที่สุด 


ที่มา : 
กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนา,เอกสารประกอบการสัมมนา “การจัดการความรู้เพื่อสันติสุขภาวะภาคใต้” 7-8 พฤศจิกายน 2550)
มัสลัน มาหะมะ, อิสลามกับการเมืองการปกครอง, , The Islamic Foundation
สุวัฒน์  คงแป้น, หนังสือชุมชนศรัทธา กำปงตักวา ทางรอดของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้, Jul 12, 2011

สุขสาระออนไลน์ฉบับที่ 216
เดือนธันวาคม 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น