“ปาท่องโก๋” กินพอดีไม่มีอันตราย

ปาท่องโก๋ที่คนไทยเรียกนั้น แท้จริงแล้วมีชื่อเรียกว่า “อิ่วจาก้วย” แต่ที่คนไทยเรียกว่า “ปาท่องโก๋” นั้น      เพราะจํามาผิด เนื่องจากสมัยก่อนชาวจีนที่ขายปาท่องโก๋ (ขนมน้ำตาลทรายขาวซึ่งออกเสียงว่า “แปะ ทึ่ง กอ” หรือ “แปะถึ่งโก้”) มักจะขายอิ่วจาก้วยด้วย พอคนขายตะโกนขายปาท่องโก๋ จึงเข้าใจว่าปาท่องโก๋คือแป้งทอดอิ่วจาก้วยนั่นเอง แต่ในพื้นที่ภาคใต้ผู้คนยังคงนิยมเรียกว่า “อิ่วเจี่ยโก้ย” อยู่ หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “เจี่ยโก้ย” ตามแบบภาษาฮกเกี้ยน

อาหารเช้าที่เรากินกันบ่อย ๆ คงหนีไม่พ้นปาท่องโก๋ เพราะกินคู่กับอะไรก็ดูดีไปหมด ไม่ว่าจะกินคู่กับชา กาแฟ น้ำเต้าหู้ นม หรือกินกับโจ๊กก็เข้ากันดี แถมยังหาซื้อปาท่องโก๋ได้ง่าย ราคาก็แสนจะถูก แต่ปาท่องโก๋เป็นแป้งทอดอมน้ำมันมากน้อยแล้วแต่ร้านและตัวเรา กินบ่อย ๆ คงจะ “คาดไม่ถึง” (อ้วน) เป็นแน่ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูวิธีกินปาท่องโก๋แบบไม่อ้วนและปลอดภัยกันดีกว่า

ปาท่องโก๋ 1 คู่ หรือ 2 ขา ขนาดจะแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะมีความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร หนาไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร น้ำหนักราว ๆ 30 กรัม ให้พลังงานราว 120-180 กิโลแคลอรี่

ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกับว่าปาท่องโก๋จะให้พลังงานที่ไม่สูงเลย หากเทียบกับพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในตอนเช้า แต่เมื่อมองโดยละเอียดแล้ว กลับพบว่าพลังงานในปาท่องโก๋น่าจะมาจากไขมันหรือน้ำมันที่ใช้ทอดมากกว่าพลังงานจากแป้ง

จะเห็นว่า ปาท่องโก๋เป็นแป้งทอดที่ให้พลังงานสูงมาก เพราะมีทั้งคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัวสูง ดังนั้น หากกินปาท่องโก๋บ่อย ๆ และกินในปริมาณมาก ย่อมเพิ่มความเสี่ยงภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง และโรคไต เพราะในปาท่องโก๋มีโซเดียมจากผงฟูและเกลือปรุงรส แถมบางร้านอาจใช้แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตแทนผงฟูเพื่อลดต้นทุนอีกด้วย ซึ่งหากได้รับสารนี้ในปริมาณมาก ก็อาจก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบได้

นอกจากนี้ปาท่องโก๋มักจะถูกทอดในน้ำมันใช้ซ้ำ ซึ่งมีสารก่อมะเร็งและอาจเกิดไขมันทรานส์ เพราะน้ำมันที่ทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดสารโพลาร์ และ PAH ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตัวร้ายล

นอกจากอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้กินแล้ว ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในลําคอ กล่องเสียง หรือระบบทางเดินหายใจ ของผู้ที่ทำอาหารทอดนาน ๆ หรือบ่อย ๆ ก็สูงตามไปด้วย เพราะไอระเหยจากน้ำมันได้ผ่านเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย

การกินอย่างปลอดภัยที่ใช้ได้เสมอคือ กินปาท่องโก๋ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และแต่ละครั้งไม่ควรกินเกิน 2 คู่

ในกรณีที่กินปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้า ก็ควรหาอาหารโปรตีนอื่น ๆ มากินควบคู่ไปด้วย เช่น ไข่ดาวหรือไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากโปรตีนเพิ่มเติมไปด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยนานกว่าคาร์โบไฮเดรต นั่นหมายความว่าเมื่อร่างกายย่อยหรือดูดซึมคาร์โบไฮเดรตไปหมดแล้ว ก็จะได้รับพลังงานจากโปรตีนต่อ ทำให้ไม่รู้สึกหิวขึ้นอีก

พยายามกินอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันด้วย เช่น กระเทียมสด ขิง ถั่วลันเตา เสาวรส ดอกคำฝอย มะเขือต่างๆ หอมหัวใหญ่ๆ กระเทียม ถั่วเหลือง แอปเปิล กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโอ๊ต ฯลฯ

ถ้าเป็นไปได้ เลือกซื้อปาท่องโก๋ที่ทอดด้วยน้ำมันใหม่ โดยสังเกตจากสีของน้ำมัน ต้องไม่ดำ ไม่มีกลิ่นไหม้ ไม่มีควันเยอะ และตัวปาท่องโก๋ต้องมีสีเหลืองอ่อน ๆ ไม่เข้มคล้ำ ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมันนะท่านผู้ชม

ข้อมูล
https://www.taokaecafe.com/business-knowledge-detail/976
https://www.matichonacademy.com/content/food-story/article_22142
https://health.kapook.com/view232164.html

สุขสาระออนไลน์ฉบับที่ 216
เดือนธันวาคม 2565
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th   

ความคิดเห็น