เรื่องไม่ไกลตัว

ศ.อิศรา ศานติศาสน์

14 ธันวาคม 2564

ศัพท์แสงทางเศรษฐศาสตร์ที่ผมอยากเล่าสู่กันฟังในคราวนี้คือ Beggar-Thy-Neighbour ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า Beggar ที่แปลว่าขอทาน ไปเกี่ยวข้องกับ Neighbour ที่แปลว่าเพื่อนบ้านได้อย่างไร

Beggar-Thy-Neighbour เป็นศัพท์เฉพาะทาง ที่นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินและรู้จักกันดี

เติมคำว่านโยบายหรือ Policy ต่อท้ายลงไป Beggar-Thy-Neighbour Policy หมายถึงนโยบายที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง (ที่มักมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่การทหาร) นำมาปฏิบัติเพื่อผลได้ของตนเอง แต่สร้างผลเสียที่มากกว่าต่อประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศคู่ค้า

แม้ในวงวิชาการ คำ ๆ นี้จะมุ่งไปที่นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีนำเข้า โควตา หรือนโยบายลดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่ประเทศที่ใช้นโยบาย แต่ก็มีไม่น้อยที่ผลได้ทางการค้าของประเทศที่ใช้นโยบาย ส่งผลเสียในเชิงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแก่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศคู่ค้า 

ตัวอย่างใกล้ตัวที่พอจะนำมาแลกเปลี่ยนกันได้คือการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกที่เคยเฟื่องฟูในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

ตามประวัติ การเลี้ยงกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แต่ที่เกี่ยวกับประเทศไทย น่าจะเป็นไต้หวันซึ่งมีประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งมาก่อน รู้ผลได้ผลเสีย จึงผลักดันและสนับสนุนเทคโนโลยีการเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว จนนำมาสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่ติดทะเลของหลายจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคใต้ เมื่อเลี้ยงกันมากและต้องการลดต้นทุน โรคระบาดก็ตามมา ทำให้มีการใช้ยาและเคมีภัณฑ์ในการเลี้ยง มีการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน จึงถูกต่อต้าน ต่อมาการเลี้ยงกุ้งก็ถูกผลักดันให้ไปเติบโตในประเทศอื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าเรา เช่น พม่า บังคลาเทศ

ตอนที่ผมมีส่วนเล็ก ๆ ร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นักวิจัยไทยต้องถกเถียงกับนักวิจัยฝรั่งว่าการที่กุ้งส่งออกของไทยขายได้ดีในตลาดโลกส่วนหนึ่งเกิดจากราคาส่งออกที่ถูกกว่าแหล่งอื่น ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะค่าแรงที่ต่ำและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในราคากุ้ง

ค่าแรงต่ำไม่ใช่ประเด็นที่เราถกเถียงกันมากนัก แต่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในราคากุ้งเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหมายความว่าคนไทยกำลังจ่ายส่วนหนึ่งของราคากุ้งด้วยความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติของเรา เพื่อให้ผู้ซื้อในต่างประเทศได้กินกุ้งในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น และนักวิจัยไทยเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม แต่นักวิจัยฝรั่งไม่เห็นด้วย

นโยบายการเลี้ยงกุ้งในยุคนั้นจึงเป็นเสมือน Beggar-Thy-Neighbour Policy ด้วย แต่โชคดีที่ในปัจจุบัน บรรดาประเทศผู้นำเข้าได้ตระหนักในปัญหานี้แล้ว

ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากระดับระหว่างประเทศ เป็นระดับภายในประเทศ ก็จะเห็น Beggar-Thy-Neighbour Policy ได้เช่นกัน เมื่อผู้มีอำนาจที่อยู่ในภูมิภาคหนึ่งตัดสินใจดำเนินนโยบายบางประการโดยหวังผลประโยชน์ที่ตนเองหรืออาจจะรวมถึงประเทศไทยโดยรวมจะได้รับ โดยไม่ให้ความสนใจรับฟังความเห็นต่าง และผลเสียที่จะเกิดกับภูมิภาคอื่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นโดยตรง

จึงมีนโยบายพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกในหลายจังหวัดที่ติดทะเล ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ นักลงทุน (และอาจมีบางคนในพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์ด้วย) ร่วมผลักดัน ในขณะที่ชาวบ้าน คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ยืนหยัดคัดค้าน เพื่อปกป้องสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งทำกินของตน

นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น มาบตาพุด ลำพูน เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ได้รับประโยชน์คือนักลงทุนจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ และแรงงานอพยพจากภูมิภาคอื่น ในขณะที่คนพื้นที่ต้องแบกรับผลเสียทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากมลภาวะทางน้ำและทางอากาศ

การใช้ Beggar-Thy-Neighbour Policy ภายในประเทศ ที่ยึดถือผลได้โดยรวมของประเทศเป็นเหตุผลรองรับ ว่าเหนือกว่าผลเสียที่เกิดกับชาวบ้าน จึงนำมาซึ่งความขัดแย้ง ที่อาจแปรเป็นความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน ระหว่างคนที่ได้รับผลประโยชน์กับคนที่ต้องแบกรับผลเสีย 

ทั้งหมดนี้ ผมเล่าจากความทรงจำและประสบการณ์การทำวิจัยล้วน ๆ ถ้าใครจะนำไปเชื่อมโยงหรือประยุกต์กับนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังพยายามให้เกิดที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และแม้แต่ท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดสตูล ก็น่าจะพอได้ครับ 


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 217
เดือนมกราคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th  

ความคิดเห็น