ชุมชนสุขภาวะ ตามวิถีอิสลาม "การจัดการศพตามวิถีอิสลาม"

อิมรอน ดินอะ

“ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงสิ่งที่จะมาตัดความสุขต่าง ๆ ให้มากเถิด” กล่าวคือ สิ่งที่จะมาตัดความสุขนั้นหมายถึงความตายนั่นเอง บันทึกโดย อิบนุฮิบบานและท่านอื่น ๆ 

โดยให้มีการตักเตือนให้มนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ให้นึกถึงความตายให้มาก ๆ ถึงแม้จะเป็นคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง เพราะความตายไม่ได้เลือกเฉพาะคนสูงอายุหรือผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีเท่านั้น คนในวัยหนุ่มสาวอาจเสียชีวิตก่อนผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุอาจมีชีวิตที่ยืนยาวทั้งที่เขารอความตายอยู่ทุกวัน

เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เสียชีวิต แต่ละศาสนาต่างก็มีพิธีกรรมในการจัดการศพในวิถีของตนเอง ในอิสลามเมื่อมุสลิมคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลง เพื่อนบ้านมุสลิมจะเข้าไปเยี่ยมศพ ไปให้กำลังใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยต้องไม่สร้างภาระต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะต้องปฏิบัติต่อศพอย่างมีมารยาท โดยปกติแล้วจะต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง เพราะถ้าเก็บไว้นานนอกจากจะทำให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องเสียใจมากขึ้น ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวและลูกหลานของผู้เสียชีวิตในการดูแลจัดงานศพอีกด้วย

การจัดการศพของมุสลิมเสมือนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปลูกฝัง และสืบทอดในชุมชนจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ เนื่องด้วยบุคคลเหล่านั้นได้ล้มหายตายจากโดยไม่มีการส่งต่อความรู้การจัดการศพให้แก่คนรุ่นหลัง 

ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้ที่จัดการอาบน้ำศพจะเป็นคนวัยกลางคน อีกทั้งภาระหน้าของลูกหลานผู้เสียชีวิตเองที่อยู่ต่างถิ่นทำให้ไม่สามารถมาอาบน้ำศพและจัดการศพด้วยตัวเองได้ เมื่อมองเห็นถึงปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มองค์ความรู้และอาสาสมัครของชุมชนเพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอและส่งต่อให้กับชุมชนต่อไป 

การปฏิบัติต่อศพ (มัยยิต) ก่อนนำไปฝัง จะมีการอาบน้ำทำความสะอาดศพ แล้วห่อด้วยผ้าขาว ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีละหมาดให้แก่ผู้ตาย ซึ่งเรียกว่า ละหมาดญะนาซะห์ ซึ่งอาจจะทำที่บ้านของผู้ตาย หรือนำศพไปทำพิธีละหมาดให้ที่มัสยิดก็ได้ เมื่อมีการเคลื่อนศพ ผู้ที่นั่งอยู่หรือทำงานอยู่ในทางศพผ่าน จะยืนขึ้นเป็นการให้เกียรติศพและตามไปส่งศพถึง กุโบร์ (สุสาน)

วิธีการอาบน้ำศพ 
  1. การอาบน้ำศพ ถ้าผู้เสียชีวิตเป็นชาย ให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชายอาบน้ำให้ ถ้าผู้เสียชีวิตเป็นหญิงก็ให้ญาติพี่น้องผู้หญิงอาบน้ำให้ ยกเว้นเป็นสามีภรรยากันสามารถอาบน้ำให้กันได้ และถ้าผู้เสียชีวิตเป็นเด็กที่ยังไม่มีความรู้สึกทางเพศ ญาติพี่น้องชายหรือหญิงก็อาบน้ำศพให้ได้ 
  2. ผู้ที่จะอาบน้ำศพควรสวมใส่ถุงมือ ไม่ควรสัมผัสกับศพโดยตรง
  3. ให้นำศพมาวางไว้ในสถานที่ที่น้ำไหลผ่านได้สะดวก ให้ถอดหรือใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกจากศพอย่างเบามือ แล้วนำผ้าผืนใหญ่ ๆ มาคลุมปิดสิ่งที่พึงสงวนของศพ ให้กดที่ท้องของศพเบา ๆ เพื่อให้ของเสียที่อยู่ระหว่างทวารทั้งสองออกจากร่างกายและให้รดน้ำล้างผ่านมาก ๆ เพื่อให้สิ่งสกปรกไหลออกไปกับน้ำ สามารถฟอกสบู่หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ทวารหนักและทวารเบาของผู้ตายได้ เพื่อให้สิ่งปรกภายในเคลื่อนที่ออกมา แล้วรดน้ำให้สะอาดทั้งตัว 
  4. จากนั้นให้เริ่มอาบน้ำละหมาดให้ศพ ไม่ให้รดน้ำเข้าไปในจมูกและปากผู้ตาย ล้างศีรษะและเคราด้วยน้ำผสมน้ำใบพุทรา เริ่มที่ศีรษะก่อน ต่อมาก็ล้างเคราและราดให้ทั่วร่างกายโดยให้ล้างด้านขวาของศพจากทางด้านหน้าก่อนในท่านอนหงาย เมื่อล้างซีกขวาทั่วทั้งหมดแล้ว ก็ล้างด้านขวาจากทางด้านหลังในท่านอนตะแคงเพื่อให้สะดวกในการล้าง หลังจากนั้นให้ล้างทางซ้ายโดยปฏิบัติเช่นเดียวกัน นับเป็นครั้งที่ 1 ทั้งนี้ผู้ที่อาบน้ำให้ศพสามารถที่จะอาบน้ำให้ศพมากกว่า 3 ครั้งก็ได้ ถ้าเห็นว่าสมควรต้องทำเช่นนั้น
  5. การห่อศพ นำมือทั้งสองไว้ที่ระดับอกให้มือขวาทับบนมือซ้าย ถ้าเป็นศพผู้ชายจะใช้ผ้าขาวปิดมิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจำนวน 3 ชิ้น ถ้าเป็นศพผู้หญิงจะใช้ผ้าขาวจำนวน 5 ชิ้น
  6. นำศพไปบรรจุในหีบศพเพื่อเตรียมฝัง โดยหีบศพควรเป็นไม้ที่ย่อยสลายง่าย 
  7. การฝังศพ ให้ขุดหลุมลึกพอสมควร ให้วางศพนอนตะแคงข้างขวา หันหน้าศพไปทางทิศตะวันตก แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมากลบจนหมด หลังฝังศพเรียบร้อยแล้วใช้ก้อนหินหรือหลักไม้สั้น ๆ 2 ท่อน ปักด้านศีรษะและปลายเท้าเป็นเครื่องหมายไว้บนหลุมศพ 


หมายเหตุ 

กรณีโรคระบาดโควิด -19 ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติในสถาณการณ์ปกติ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีปฏิบัติศาสนกิจแบบเดิมเป็นวิถี new normal ตามประกาศของสาธารณสุขที่อ้างอิงจากจุฬาราชมนตรี เช่น ห้ามญาติผู้เสียชีวิตมาเยี่ยม (มัยยิต) หรือจัดการอาบน้ำศพ โดยให้บุคคลที่เป็นมุสลิมที่มีความรู้ทำการตะยัมมุมแทนการอาบน้ำศพ 

ทั้งนี้หากการสัมผัสศพโดยตรงนั้นไม่ปลอดภัย อนุญาตให้ทำตะยัมมุมบนถุงบรรจุศพโดยไม่ต้องเปิดถุง
การตะยัมมุม คือการใช้มือทั้งสองข้างตบบนดินฝุ่นโดยตั้งเจตนาเพื่อได้รับอนุโลมให้ใช้ทำการละหมาดได้ เป็นต้น

ข้อมูล
-https://edu.yru.ac.th/islam_be/page/42/การจัดการศพตามวิถีอิสลาม.html
-บทความวิชาการ – การจัดการศพตามวิถีอิสลามกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
-กิติยา โต๊ะทอง - คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
-ประกาศจุฬาราชมนตรี. เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). ว่าด้วย แนวทางและวิธีการจัดการศพมุสลิมที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19.


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 217
เดือนมกราคม 2566
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th  

ความคิดเห็น