กล้วยน้ำว้า (Cultivated banana) เป็นกล้วยลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี
กล้วยน้ำว้ามีชื่อพื้นเมืองอื่นเช่น กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยใต้ หรือ กล้วยอ่อง แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว
กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กล้วยน้ำว้าสุก ช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย
กล้วยน้ำว้าดิบสามารถรักษาโรคกระเพาะได้ เนื่องจากมีสารที่ชื่อว่า “แทนนิน” มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ปกป้องผนังกระเพาะลำไส้จากเชื้อโรคและของรสเผ็ดจัด คนโบราณมักนำกล้วยดิบมาฝาน ตากแห้ง หรืออบ แล้วนำมาบดเป็นผงชงกับน้ำดื่ม เพื่อเคลือบกระเพาะ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
กล้วยน้ำว้าอุดมไปด้วยกรดอมิโน อาร์จีนิน ฮีสตีดินซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีในน้ำนมแม่ นอกจากนี้ยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต รวมไปถึงวิตามินซี มีวิตามินเอ วิตามินบี 3 บี 6 และบี 12 และเกลือแร่ต่างๆ เช่น แร่ธาตุโพแทสเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก แคลเซี่ยม แมกนิเซียม น้ำตาล และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์
กล้วยน้ำว้ามีสารทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเอ็นโดรฟีน ช่วยให้อารมณ์ดี ขจัดความเครียด ช่วยให้หลับสบาย และช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้ด้วย เพราะกล้วยน้ำว้ามีสารทริปโตเฟน ทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย
ปัจจุบันกล้วยถูกจัดเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานและอยู่ในรายชื่อของยาที่พัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรง ไม่ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตามในกล้วยดิบมีสาร sitoindoside ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสเตียรอยด์ การใช้ในระยะยาวจึงต้องระมัดระวังเรื่องผลข้างเคียง เนื่องจากยังไม่มีผู้ศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารกลุ่มนี้ นอกจากนี้สารเอมีนที่พบในกล้วยอาจทำให้เกิดอาการไมเกรน ดังนั้นไม่ควรรับประทานกล้วยป่าดิบ ต้องทำให้สุกก่อน
https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/Food-exercise/กล้วยรักษาโรคกระเพาะได้
https://www.disthai.com/16915273/กล้วยน้ำว้า
https://th.wikipedia.org/wiki/กล้วยน้ำว้า
https://www.thairath.co.th/scoop/1973813
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/243/ประโยชน์ของกล้วย/
เดือนมกราคม 2566
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น